ข่าว

อดีตผู้ว่าฯ สตง. ชี้ ดุลยพินิจ "อบต.ราชาเทวะ" ตั้ง "เสาไฟกินรี" ส่อเจตนาแอบแฝง

อดีตผู้ว่าฯ สตง. ชี้ ดุลยพินิจ "อบต.ราชาเทวะ" ตั้ง "เสาไฟกินรี" ส่อเจตนาแอบแฝง

15 มิ.ย. 2564

อดีตผู้ว่าฯ สตง."พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส" ชี้ ดุลยพินิจ"ราชาเทวะ" ที่มีลักษณะแอบแฝง เกิดความสิ้นเปลืองของงบประมาณ ไม่มีความเหมาะสม ไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้

จากกรณีโครงการติดตั้ง"เสาไฟกินนรี" ขององค์การบริหารส่วนตำบลราชาเทวะ  (อบต.ราชาเทวะ) ที่มีมูลค่าสูงต้นละเกือบ 1 แสนบาท จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ตามที่ได้มีการเสนอข่าวไปแล้วนั้น 

นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยถึงการตรวจสอบการดำเนินงานติดตั้งเสาไฟกินนรี ของ อบต.ราชาเทวะ พบปัญหาโครงการดำเนินงานในเขตแขวงการทางสมุทรปราการ ซึ่ง อบต.ราชาเทวะ ยังไม่ได้ดำเนินการจัดส่งรูปแบบรายละเอียดของงาน ให้เจ้าของพื้นที่พิจารณาก่อน กระทั่งเกิดความเสียหายจากโครงการมูลค่า 67.29 ล้านบาท เมื่อปี 2556 ว่า ที่มาของกรณีดังกล่าว มาจากลักษณะข้อมูลที่ได้รับจากโครงการเสาไฟฟ้า ปะติมากรรม ของ อบต.ราชเทวะ มีการติดตั้งบนถนนที่รุกล้ำเขตแขวงการทาง แม้ถนนเส้นนั้น จะอยู่ในเขตเทศบาลตำบลราชาเทวะก็ตาม แต่ในเมื่อการพัฒนาไฟส่องสว่างเป็นงานที่แขวงการทางจะต้องดำเนินการอยู่แล้ว แล้วมีเหตุอันใดที่ อบต.ราชเทวะ จะต้องลงทุนเอง จึงกลายเป็นลักษณะอาจมีประโยชน์ทับซ้อน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ต้นละแสน แพงตรงไหน...เปิดใจ บ.ร่วมประมูลเสาไฟกินรี

ในครั้งนั้น มีคำกล่าวอ้างการเลียนแบบ เสาไฟในเส้นทางสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แต่ข้อเท็จจริงแล้วถนนที่ติดตั้งเสาไฟเจ้าปัญหา ก็ไม่ใช่เส้นทางสัญจรไปสุวรรณภูมิ อีกทั้งก็ไม่มีประชาน หรือนักท่องเที่ยวรายใดสามารถมองเห็น มันจึงเป็นเรื่องเกินความเหมาะสม 

อดีตผู้ว่าฯ สตง. ชี้ว่า เรารับทราบดีว่า เสาไฟฟ้า ประติกรรม ไม่มีแบบมาตรฐานของทางราชการ แต่การพิจาณาความเหมาะสม ก็น่าจะใช้สามัญสำนึกตัดสินถึงความเหมาะสมจากการใช้งบประมาณได้  ยกตัวอย่าง แบบธรรมดา มีแต่เสาโลหะ ดูแลรักษาง่ายราคาไม่มีกี่หมื่นบาท พอติดตั้งโซล่าร์เซลล์ ก็ไม่ควรเกิน 5 หมื่นบาท แต่เสาไฟ ประติมากรรมที่มีราคาถึง 94,000 บาท หากใช้เพียงสามัญสำนึกก็พอจะตัดสินใจได้ว่า อะไรคือความเหมาะสม

“ข้อสังเกต การเปรียบเทียบสเปค และราคา ในตลาดที่มีการแข่งขันกันสูง เราอาจใช้ Google เสิร์ซเจอเสาไฟฟ้า ประติมากรรมในราคา 1.2 หมื่นบาท แต่ก็ต้องดูต้นทุนการบำรุง รักษาด้วย ” 

อดีตผู้ว่าฯ สตง.ให้ความเห็นแย้งกับประเด็น “ปรับภูมิทัศน์” ที่นำมาใช้เป็นเหตุผลในการติดตั้งว่า การปรับภูมิทัศน์ในที่รกร้าง พงหญ้าขึ้นรกทึก เป็นบ่อน้ำที่ไม่มีทางสัญจร ถือเป็นการส่อเจตนาที่ไม่ใช่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะไม่มีเหตุใดให้เชื่อว่า กลางค่ำ กลางคืน จะมีชาวบ้าน หรือหญิงสาวใดๆ ในชุมชนเดินเข้าไปในพื้นที่อันจะเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม 

"การใช้ดุลยพินิจใด ที่มีลักษณะแอบแฝง เกิดความสิ้นเปลืองของงบประมาณ ไม่มีความเหมาะสม มีลักษณะแอบแฝง ไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้" 

 

อดีตผู้ว่าฯ สตง. ชี้ ดุลยพินิจ \"อบต.ราชาเทวะ\" ตั้ง \"เสาไฟกินรี\" ส่อเจตนาแอบแฝง
 

 

เรื่องนี้เคยเสนอ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้าจัดการกับผู้บริหารท้องถิ่นในสมัยนั้น เพราะการใช้จ่าย จัดซื้อจัดจ้างด้วยราคาสูง ลักษณะฟุ่มเฟือย ไม่เกิดประโยชน์ แต่ยังไม่ทันเข้าจัดการ อีกทั้งรัฐบาลในช่วงนั้นต้องการผ่อนคลายความตึงเครียดทางการเมือง พอมีการออกกฎหมายรัฐธรรมนูญ เรื่องนี้จึงเข้าสู่การตรวจสอบของ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ซึ่งปัจจุบันกระบวนการดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น จึงกลายเป็นการเปิดช่องให้ผู้บริหารท้องถิ่นเหล่านี้ ใช้ดุลยพินิจแบบไม่เหมาะสม เกิดเป็นความสิ้นเปลืองของงบประมาณ 

อดีตผู้ว่าฯ สตง. กล่าวปิดท้ายว่า แนวคิดใช้สัญลักษณะของท้องถิ่น สร้างเป็นประติมากรรมนั้น ก็ต้องดูสถานที่ด้วย เพราะขณะที่เกิดความไม่เป็นระเบียบแล้ว การใช้จ่ายที่จะมีแต่ความสิ้นเปลืองก็จะตามมา เปรียบกับถนนอักษะ ที่มีเสาหงส์ติดตั้งตามรายทาง ก็ถือเป็นจุดเน้นเพื่อการส่งเสริม ทั้งในเชิงศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว จนกลายเป็นแลนมาร์คสำคัญของประเทศ แต่กับเสาไฟ กินนรี อบต.ราชาเทวะ ที่ติดตั้งไร้ระเบียบแล้ว จะยิ่งทำให้สัญลักษณ์ของท้องถิ่นดูด้อยค่าลงไปอีกด้วย

 

อดีตผู้ว่าฯ สตง. ชี้ ดุลยพินิจ \"อบต.ราชาเทวะ\" ตั้ง \"เสาไฟกินรี\" ส่อเจตนาแอบแฝง