ด่วน..สรุปสำนวนคดี สั่งฟ้อง"ลุงพล" และ สองยูทูบเบอร์ รวม 5 ข้อหา พร้อมออกหมายเรียก
ผู้การบก.ปทส. เผยสรุปสำนวนคดี สั่งฟ้อง"ลุงพล" และ สองยูทูบเบอร์ รวม 5 ข้อหา ออกหมายเรียกให้ไปพบ อัยการจังหวัดมุกดาหาร เพื่อส่งสำนวน 17 มิ.ย. นี้
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ที่บก.ปทส. พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม ผบก.ปทส. กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับนายไชย์พล วิภา หรือลุงพล ในฐานความผิดบุกรุกตัดไม้ในเขตป่าสงวนก่อสร้างวังพญานาคในพื้นที่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร ว่า ทางคณะพนักงานสอบสวนได้ทำการสรุปสำนวนคดีดังกล่าว และได้เสนอมาตามขั้นตอน ซึ่งทางบก.ปทส.มีความเห็นสั่งฟ้องลุงพล-นายไชย์พล วิภา และพวก 2 ราย ซึ่งเป็นและยูทูบเบอร์ ซึ่งเบื้องต้นได้มอบหมายให้ทางพ.ต.อ.ธณัชชนม์ เก่งกสิกิจ ผกก.3 บก.ปทส. เป็นผู้ดำเนินการในขั้นตอนจากนี้
ขณะที่พ.ต.อ.ธณัชชนม์ กล่าวว่า คดีนี้ทำการสอบปากคำพยานเพิ่มเติม ในประเด็นสำคัญครบถ้วนแล้ว คณะพนักงานสอบสวนสรุปสำนวนเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีความเห็นสั่งฟ้องขั้นตอนหลังจากนี้ พนักงานสอบสวน ได้ทำการออกหมายเรียกลุงพลและยูทูปเบอร์ ให้ไปพบพนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหาร ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ เนื่องจากการสรุปสำนวน มีความเห็นส่งฟ้องต่ออัยการต้องนำตัวผู้ต้องหาไปแสดงต่อพนักงานอัยการด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่าทางคณะพนักงานสอบสวนบก.ปทส.มีความเห็นสั่งฟ้องลุงพลและพวก ซึ่งเป็นยูทูปเบอร์ ทั้งสิ้น 5 ข้อหา โดยแบ่งเป็นลุงพล 3 ข้อหา ประกอบไปด้วย กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 54 ในฐานความผิดกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น , กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14 ในความผิดฐานยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในที่ดินก่อสร้างแผ้วถาง ทำไม้ หรือกระทำการด้วยประการใดใดอันเป็นการทำให้เสื่อมเสียสภาพป่าสงวนแห่งชาติ และ ร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาต มีไม้หวงห้ามไว้ในความครอบครองอันมิได้แปรรูป โดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหลวง หรือรอยตรารัฐบาลขาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พุทธศักราช 2485 มาตรา 11 และ 69
นอกจากนี้ได้ทำการแจ้งข้อหานายธีรพงษ์ สงวนนามสกุล) และนายนิคม (สงวนนามสกุล) สองยูทูปเบอร์ 2 ข้อหา ในความผิด ร่วมกันทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตอันเป็นความผิดตามพรบ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 11 ร่วมกันทำไม้หวงห้ามในเขตป่าสงวนแห่งชาติอันเป็นความผิดตามพรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 มาตรา 14