"โรคต้อกระจก" เช็ก 5 สัญญาณเสี่ยง การรักษาและป้องกัน เลี่ยงภาวะตาบอด
รู้จัก "โรคต้อกระจก" คืออะไร สาเหตุ ปัจจัย อาการ เช็ก 5 สัญญาณเสี่ยง การรักษาและการป้องกัน เลี่ยงภาวะตาบอด
"โรคต้อกระจก" คือ ภาวะที่เลนส์แก้วตาขุ่น ไม่ใสเหมือนปกติ ทำให้มองไม่ชัด หรือคุณภาพการมองเห็นลดลง ซึ่งจะค่อยๆ เกิดขึ้น ใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลงของเลนส์ตาจนกระทั่งตาขุ่นมัว จึงอาจทำให้คนทั่วไปไม่ทันได้ตระหนักถึงอาการเริ่มต้นของโรคต้อกระจก โดยมักมาพร้อมกับอายุที่มากขึ้น นับเป็นความเสื่อมอย่างหนึ่งเกี่ยวกับร่างกายเรา ทั้งนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของเลนส์แก้วตาที่ช่วยในการมองเห็นซึ่งจะมีลักษณะตัวเลนส์ที่นิ่มมากเมื่ออยู่ในวัยเด็ก แต่เมื่อเริ่มมีอายุมากขึ้น เลนส์แก้วตาจะค่อยๆ แข็งขึ้น เกิดความไม่สม่ำเสมอ จนเกิดความขุ่นมัวในเนื้อเลนส์ และส่งผลต่อการมองเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ ยังสามารถเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ได้ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม , ผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ , การผ่าตัดหรืออุบัติเหตุบริเวณดวงตา , การสัมผัสแสงยูวี (รวมถึงแสงแดด) เป็นเวลานาน , โรคบางอย่าง เช่น เบาหวาน และ ไทรอยด์
เช็ก 5 สัญญาณเสี่ยงโรคต้อกระจก
1. ตาค่อยๆ มัวลง อย่างช้าๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ อาจเริ่มมีอาการที่มัวลงภายในช่วงเวลาสั้นเพียง 2 - 3 เดือน หรือถึงมากกว่า 10 ปีในบางราย
2. สายตากลับ มีอาการเปลี่ยนแปลงด้านการมองเห็นอย่างเห็นได้ชัดเจน เช่น จากเดิมสายตายาวแล้วเปลี่ยนเป็นสายตาสั้น หรือเกิดสายตาเอียงขึ้น
3. เห็นแสงแตกกระจาย เมื่อใช้สายตามองแสงแล้วจะเห็นมีลักษณะเป็นเส้นๆ เป็นแฉกๆ หรืออาจดูมีภาพซ้อน
4. ความสามารถในการมองเห็นในที่มืดลดน้อยลง ต้องการแสงสว่างที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะพบบ่อยๆ ในกลุ่มคนสูงวัยมากๆ
5. ต้อกระจกบางชนิดจะมองเห็นในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง เนื่องจากมีความขุ่นมัวเฉพาะส่วนกลางของเลนส์ตา ซึ่งในที่สว่างนั้นรูม่านตาจะมีขนาดเล็ก เวลาใช้สายตาก็จะมองผ่านเฉพาะส่วนที่ขุ่นมัวนั้น แต่ในที่มืดรูม่านตาจะขยายกว้างขึ้นการมองเห็นก็จะดีขึ้น มักพบในคนที่ป่วยเป็นโรคต้อกระจกจากผลกระทบของโรคเบาหวาน ใช้ยาสเตียรอยด์ด้วยการรับประทาน หรือหยอดตามาเป็นเวลานานๆ
หากมีอาการน่าสงสัยเพียงข้อใดๆ ข้อหนึ่ง ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจเช็กอย่างละเอียด และรับการรักษาโรคต้อกระจกได้อย่างทันท่วงที ทั้งการสวมแว่นตา การใช้ยาหยอดตา ในกรณีที่ยังไม่มีอาการรุนแรงมาก รวมไปถึงการผ่าตัดสลายต้อกระจกและใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งความก้าวหน้าในทางการแพทย์ปัจจุบันทำให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กเพียง 2 - 3 มิลลิเมตร ผู้ป่วยจึงไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน แผลสามารถสมานตัวเองได้อย่างรวดเร็ว
โรคต้อกระจกสามารถป้องกันได้ โดยไม่ซื้อยาหยอดตามาใช้เอง ควรปรึกษาจักษุแพทย์ และสวมแว่นหรือแว่นกันแดดป้องกันการกระทบกระแทกบริเวณดวงตาและแสงยูวี ทั้งนี้ หากรู้ปัญหาทางสายตาได้เร็ว รักษาได้ทันเวลา ก็จะช่วยให้ทุกคนสามารถถนอมสายตาให้อยู่คู่ไปกับเราได้อย่างยาวนาน หลีกเลี่ยงภาวะตาบอดที่มีสาเหตุมาจากภาวะต้อกระจกได้