"ล่อซื้อ" ต่างกับ "ล่อให้ทำผิด" อย่างไร
เปิดความต่าง "ล่อซื้อ" กับ "การล่อให้กระทำความผิด" ส่งผลในทางกฎหมายไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพยานหลักฐานที่ได้มา หรือ ความเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย
จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความ ระบุว่ามีผู้ล่อซื้อน้ำส้มจำนวน 500 ขวด ต่อมามีกกลุ่มชายฉกรรจ์ อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมสรรพสามิต เข้าจับกุม และมีการเรียกค่าปรับเป็นเงินจำนวน 12,000 บาท จากผู้ค้านั้น ซึ่งต่อมา กรมสรรพสามิต ได้ออกมาชี้แจงว่า เนื่องจากได้แจ้งว่าผู้ค้ารายดังกล่าว ผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน และยังไม่ได้เสียภาษีสรรพสามิต เจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ให้คำแนะนำ เพื่อให้เข้ามาอยู่ในระบบ และเสียภาษีสรรพสามิตอย่างถูกต้อง โดยไม่ได้เรียกเงินค่าปรับ จำนวน 12,000 บาท ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น
หลังจากที่เรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์ วิจารณ์จนกลายเป็นกระแสสังคม ว่าการกระทำของชายกลุ่มดังกล่าวนั้นถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากมีการล่อซื้อน้ำส้ม จากผู้ประกอบการรายย่อย ถือว่าเป็นการขูดรีดและยังเป็นซ้ำเติมประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อีกด้วย
ในขณะที่ลักษณะพฤติการณ์ของกลุ่มดังกล่าวนั้นเข้าข่ายการ"ล่อซื้อ" หรือ "การล่อให้กระทำความผิด" มีความแตกต่างกัน และส่งผลในทางกฎหมายไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของพยานหลักฐานที่ได้มา หรือ ความเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยพร้อมด้วยเหตุผลวางเป็นบรรทัดฐานไว้เป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ เพจ "สอบเนติบัณฑิตไทย" มีคำอธิบาย ลักษณะของการ "ล่อซื้อ" กับ "ล่อให้กระทำความผิด" มีความต่าง และมีบทลงโทษ ดังนี้
การ "ล่อซื้อ" คือ กรณีที่ผู้กระทำความผิดนั้นได้กระทำความผิดอยู่ก่อนแล้ว เจ้าพนักงานจึงได้วางแผนเพื่อล่อซื้อของผิดกฎหมายจากผู้นั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นเพียงการกระทำเท่าที่จำเป็นและสมควรในการแสวงหาพยานหลักฐาน อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. ม.2 (10) (ฎ.81/2551) ซึ่งวิธีนี้เป็นเพียงวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานอย่างหนึ่งเพื่อให้ทราบรายละเอียดแห่งความผิด เป็นการพิสูจน์ความผิด (ฎ.1839/2544) และเพื่อให้ได้โอกาสจับกุมจำเลยพร้อมด้วยพยานหลักฐาน (ฎ.10632/2554) พยานหลักฐานที่ได้มาจึงไม่ใช่การได้มาโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือศีลธรรม มิได้เป็นการใส่ร้ายป้ายสีหรือยัดเยียดความผิดให้ (ฎ.59/2552) จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบและได้มาโดยชอบ ใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.วิ.อ. ม.226 ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดแม้จะเป็นผู้ล่อซื้อเองหรือไปจ้างให้ผู้อื่นกระทำ ยังคงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย มีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องร้องคดีอาญาแก่ผู้กระทำความผิดได้ (ฎ.6397/2541, 8740/2544, 954/2550, 8187/2543, 6523/2545 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)
การ "ล่อให้กระทำความผิด" คือ กรณีที่มีบุคคลซึ่งไม่มีเจตนาจะกระทำความผิดมาแต่แรก แต่ถูกผู้อื่นหรือเจ้าพนังงานหลอกให้กระทำความผิด อาจเกิดจากการจูงใจ ให้คำมั่นสัญญา หรือหลอกลวงด้วยประการใดๆ จนเป็นเหตุให้ถูกจับกุมตามแผนที่ผู้อื่นหรือเจ้าพนักงานได้วางไว้ เช่นนี้ ถือเป็นการจูงใจหรือล่อลวงให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ (ฏ.4077/2549) สิ่งของที่ได้จากการหลอกให้ทำขึ้น จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ต้องห้ามมิให้ใช้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. ม.226 ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าวจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย เพราะเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด ไม่มีอำนาจร้องทุกข์และฟ้องร้องคดีได้ตาม ป.วิ.อ. ม.2 (4) (ฎ.9600/2554, 4301/2543, 4077/2549 วินิจฉัยทำนองเดียวกัน)
ที่มา เพจ "สอบเนติบัณฑิตไทย"