ข่าว

"พช."เปิดเวทีเฟ้นหาผ้าถิ่นล้านนา ลายพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" กระแสดีทั่วภาคเหนือ

"พช."เปิดเวทีเฟ้นหาผ้าถิ่นล้านนา ลายพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" กระแสดีทั่วภาคเหนือ

17 มิ.ย. 2564

"พช."เปิดเวทีเฟ้นหาผ้าถิ่นล้านนา ลายพระราชทาน "ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" กระแสดีทั่วภาคเหนือ ร่วมส่งผลงานเข้าประชันกว่า 400 ผืน

วันที่ 17 มิถุนายน 2564 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นประธานในการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ระดับภาค โดยมี นางรชตภร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ นายชัชวาลย์ ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมด้วยคณะกรรมการประกวดระดับภาค และผู้อำนวยการโรงเรียน OTOP จังหวัดเชียงใหม่ ตลอดจนแขกผู้มีเกียรติ สื่อมวลชน ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลล์ เชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยเน้นย้ำมาตรการป้องการเว้นระยะห่างระหว่างกัน สวมหน้ากากอนามัย ตรวจวัดอุณหภูมิอย่างเคร่งครัด

 

\"พช.\"เปิดเวทีเฟ้นหาผ้าถิ่นล้านนา ลายพระราชทาน \"ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ\" กระแสดีทั่วภาคเหนือ

 

\"พช.\"เปิดเวทีเฟ้นหาผ้าถิ่นล้านนา ลายพระราชทาน \"ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ\" กระแสดีทั่วภาคเหนือ

 

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และเป็นการต่อยอดการพัฒนาผ้าลายพระราชทาน ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชน ได้ส่งมอบต่อให้กับกลุ่มทอผ้าในทุกจังหวัด เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดไปสู่เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ตามวิถีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ตามพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” คือ ความสุขที่ได้เลือกใช้ศิลปะ หัตถกรรมไทย เพื่อให้รายได้กลับเข้าสู่ชุมชน เป็นวงจรเศรษฐกิจเชิงมหภาค และส่งเสริม กระตุ้น ผ้าไทยให้ทันสมัยสู่สากลเป็นที่นิยมในทุกเพศ ทุกวัยและทุกโอกาส ตลอดทั้งเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติแก่ผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย

กรมการพัฒนาชุมชน จึงได้จัดประกวดผ้าลายพระราชทาน “ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ระดับภาค ภายใต้โครงการส่งเสริมภูมิปัญญาและพัฒนาศักยภาพผ้าไทย ซึ่งเป็นตัวแทนระดับภาค ในการจัดประกวดระดับภาคผ่านมาแล้ว 2 ภาค คือ ภาคกลาง จังหวัดอยุธยา ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช และภาคเหนือ เป็นภาคที่ 3 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประกวดมากกว่า 400 ผืน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดอุดรธานี  ในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 นำไปแข่งขันในระดับประเทศต่อไป เพื่อนำไปสู่สายพระเนตรแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในรอบชิงชนะเลิศวันที่ 27-29 กรกฎาคม 2564 และในงาน OTOP City ที่ผ่านมา ถือเป็นประวัติศาสตร์ของกรมการพัฒนาชุมชน ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่านเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงาน ด้วยพระบารมีของพระองค์ครั้งนั้น นำความปลาบปลื้มใจมาสู่พี่น้องผู้ประกอบการ OTOP เป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้แก่พี่น้องผู้ประกอบการ OTOP ให้ผ่านลุล่วงไปได้ จากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

และในวันนั้นเองพระองค์ท่านทรงพระราชทานแบบลายผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” แก่พสกนิกรชาวไทย ผ่านกรมการพัฒนาชุมชน อันเป็นสิ่งที่ประจักษ์ชัดถึงพระปรีชาสามารถในด้านการออกแบบ ตอกย้ำให้เกิดความเชื่อมั่นว่าความงดงามของผ้าไทยจะคงอยู่คู่กับสังคมไทย ทำให้พี่น้องทั้งหลายกล้าที่จะออกจากกรอบความคิดที่มีต่อผ้าไทยแบบดั่งเดิม ไม่เพียงแต่วงการทอผ้าเท่านั้น

แต่ยังต่อยอดไปถึงการสร้างคุณค่าในงานหัตถกรรม หัตถศิลป์ประเภทอื่นๆ อีกด้วย สมดังคำพระราชดำรัส เมื่อยามไปเยี่ยมหัวเมืองต่างๆ เช่น สกลนคร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ได้มีพระราชปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงงานเพื่อทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงอุทิศพระวรกาย พระราชทรัพย์  ในการอุ้มชูนำเอาภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาเป็นเครื่องมือให้กับเกษตรกรที่ยากไร้ ให้มีอาชีพเสริมตามมา ส่งเสริมหัตถกรรมต่างๆ ก่อให้เกิดมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตามมา

รวมถึงการส่งเสริมอัตลักษณ์ของความเป็นไทยไม่ให้สูญหายไป โดยเฉพาะ เสื้อผ้า ที่สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ เพื่อพสกนิกรของพระองค์มาอย่างยาวนาน ด้วยทรงมีพระราชดำริในการอนุรักษ์ สืบสานผ้าไทยมากกว่า 60 ปี ทรงชุบชีวิตผ้าไทยขึ้นมา และนับว่าเป็นความโชคดีของคนไทยที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงสืบสาน และต่อยอดงานของพระองค์ท่าน โดยได้มีการพระราชทาน ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ แก่พสกนิกรชาวไทย ทำให้ยอดขายของผู้ประกอบดีขึ้นเป็นอย่างมาก

เพราะเดิมเสื้อผ้าส่วนใหญ่เน้นถักทอด้วยลวดลายแบบเดิม ไม่เกิดการพัฒนา แต่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ทำให้ยอดขายของผู้ประกอบการดีขึ้น มีผู้สั่งจองเป็นจำนวนมาก ด้วยพระทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตา หนุนให้พี่น้องช่างฝีมือ กลุ่มทอผ้า ผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP สามารถสร้างรายได้หมุนเวียนเลี้ยงดูครอบครัว แม้ต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้ฝ่าฟันไปได้อย่างมั่นคง จึงนำมาซึ่งความซาบซึ้งจนมีคำกล่าวถึงสิ่งที่พระองค์พระราชทานว่า “เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ที่หยาดลงในทะเลทราย” และด้วยพระวิริยอุตสาหะของพระองค์ที่เสด็จฯ ไปยังหัวเมืองทั้ง 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ให้กลับกลายเป็นความหวังและต่อยอดในการสร้างงาน สร้างรายได้ อย่างทั่วถึง

ซึ่งตอกย้ำในการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาที่มุ่งมั่น ช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ให้เกิดการสร้างรายได้และทรงพระราชทานแนวคิด รณรงค์ให้คนไทยสวมใสผ้าไทย ภายใต้แนวคิด ผ้าไทยใส่ให้สนุกและดีไซน์เนอร์ช่วยในการออกแบบตัดเย็บ ให้เป็นที่ถูกใจแก่ผู้สวมใส่เป็นอย่างมาก ไม่เพียงเท่านี้ยังเป็นการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นและเปิดโอกาสให้มีการประกวดหาช่างฝีมือทอผ้าสุดยอดในแต่ละภูมิภาค และไปแข่งในระดับประเทศต่อไป โดยผ้าที่ชนะเลิศจะได้รับเหรียญรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และจะเป็นชุดฉลองพระองค์ในโอกาสต่อไป 

ขณะที่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ซึ่งสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีสมเด็จพระพันปีหลวง ทรงเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงาน พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย พระสติปัญญา ในการพลิกฟื้นผ้าไทย จากสิ่งทอของชาวบ้านที่เกือบสูญหายให้กลับมาเป็นอาภรณ์ที่สวมใส่ให้คนทั่วโลกยอมรับถึงคุณค่าและความงดงามอันประเมินค่ามิได้ ทำให้สตรีไทยเกิดอาชีพเสริม จนปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลัก โดยการสืบสานต่อยอดในพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นต่อปวงชนชาวไทย สืบสานมายังสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระเมตตาในการที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมสิ่งที่สำคัญที่สุดของความเป็นไทย

เรื่องหนึ่งคือ เรื่องของวัฒนธรรมการแต่งกาย สนับสนุน ส่งเสริม รื้อฟื้น ชีวิตผ้าไทย ทำให้วงการทอผ้าไทย มีความคึกคักเป็นอย่างมาก เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ด้วยลมหายใจของช่างทอ ซึ่งผ้าทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยลมหายใจของสตรี หากคนไทยพร้อมใจกันสวมใส่ผ้าไทยทุกวันทั้งประเทศ จะช่วยเป็นการส่งเสริมการทอผ้าในชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน ก่อให้เกิดรายได้แก่กลุ่มสตรี การจัดการประกวดครั้งนี้จะเป็นการรักษา สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ทำให้ผ้าทอไทยทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยลมหายใจของพี่น้องประชาชน เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจครัวเรือน และเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไปยังลูกหลานเพื่อรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ จึงขอเชิญชวนทุกท่านสวมใส่ผ้าไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนให้ยั่งยืนสืบไป

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติม ขอขอบคุณท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการประกวดทุกท่านและประธานสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ที่ร่วมเป็นภาคีเครือข่าย รณรงค์ส่งเสริมคนไทยสวมใส่ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของภาคเหนือได้มีการส่งผ้าเข้าร่วมประกวด จำนวน 416 ผืน ประกอบด้วย ผ้าปักมือ จำนวน 77 ผืน, ผ้ามัดหมี่ 2 ตะกอ จำนวน 64, ผ้าเทคนิคสร้างสรรค์ จำนวน 60 ผืน, ผ้ายกดอก จำนวน 57 ผืน, ผ้าตีนจก (ตีนซิ่น) จำนวน 32 ผืน,ผ้าจกทั้งผืน จำนวน 28 ผืน, ผ้าขิด จำนวน 18 ผืน, ผ้าบาติก/มัดย้อม จำนวน 18 ผืน,ผ้ามัดหมี่ 3 ตะกอขึ้นไป จำนวน 16 ผืน, ผ้ายกเล็ก จำนวน 15 ผืน, ผ้าเทคนิคผสมลาย จำนวน 12 ผืน, ผ้าลายน้ำไหล จำนวน 9 ผืน, ผ้ายกใหญ่ จำนวน 7 ผืน และ ผ้าพิมพ์ลาย จำนวน 3 ผืน รวมผ้าที่ส่งเข้าประกวด จำนวน 416 ผืน  จึงเป็นดั่งดอกผลของความมหัศจรรย์ที่พระองค์ท่านได้ทรงพระราชทานแก่พี่น้องคนไทยที่ได้นำลายผ้าพระราชทาน ผ้าลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ไปรังสรรค์แสดงผลงานเข้าประกวดกันในครั้งนี้ ทำให้วงการผ้าไทยเกิดความคึกคัก ปลุกกระแสผ้าไทยสู่สากล สร้างรายได้กลับสู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน