หนุ่มเป็นงง ขาย "สเก็ตบอร์ด" ถูกจับ โดนยึดของเกลี้ยง พอรู้สาเหตุถึงกับพูดไม่ออก
หนุ่มเป็นงง ขาย "สเก็ตบอร์ด" อยู่ดีๆถูกจับ โดนยึดของเกลี้ยง งานนี้พอรู้สาเหตุถึงกับพูดไม่ออก โร่เตือนเพื่อนร่วมอาชีพ ชาวเน็ตเดือดปุดแห่ให้กำลังใจเพียบ
วันที่ 19 มิ.ย. 2564 กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่ในโลกออนไลน์ขณะนี้ เมื่อผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า Jakrit Jaipluem ได้โพสต์ข้อความเตือนเพื่อนร่วมอาชีพว่า ฝากถึงพี่ๆร่วมอาชีพที่เป็นเจ้าของธุรกิจร้านขายสเก็ตบอร์ด
ในรูปนี้ผมโดนจับกุม โดยถูกกล่าวหาว่าขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลาก (ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522) ประกอบกับประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2547) เรื่อง ให้เครื่องเล่นชนิดที่มีล้อเลื่อนเป็นสินค้าควบคุมฉลาก
หนุ่มผู้โพสต์ระบุต่ออีกว่า เอาจริงๆแล้วข้อกฎหมายพวกนี้ก็เพิ่งรู้ว่ามันมีอยู่ สามารถยึดสินค้าเราไปได้เลย สามารถจับกุมตัวเราไปได้เลย โดยไม่มีการตักเตือนก่อน ก็อยากให้พวกพี่ๆร่วมอาชีพออกมาช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ เพื่อทำให้มันถูกต้อง เพราะผิดทั้งผู้ผลิตจนถึงผู้จำหน่าย
ตอนนี้ผมได้ประกันตัวออกมาแล้วครับ ด้วยเงินจำนวนนึงซึ่งก็ไม่มากเท่าไหร่ แต่กว่าจะหามาได้ก็ต้องทำงานกันหนักพอสมควร เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ต้องเดินทางไปขึ้นศาลอีก สินค้าที่ถูกยึดก็ต้องรอศาลตัดสินกว่าจะได้คืน
งานนี้หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปก็มีคนแห่เข้ามาคอมเมนต์กันสนั่นพร้อมทั้งเข้ามาให้กำลังใจ อาทิ สู้ๆ เป็นกำลังใจให้ครับ คนทำมาหากินสุจริตก็จะลำบากหน่อย เดี๋ยวภาษี เดี๋ยวขึ้นค่าแรง เดี๋ยวใบอนุญาติ ไรต่อไรมากมาย จงภูมิใจที่เราได้พยายามทำให้ถูกต้องมากที่สุดถึงแม้จะยังไม่ครบทุกข้อก็ตาม
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2541 ได้กำหนดให้สินค้าที่ผลิตเพื่อขายโดยโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงานและสินค้าที่สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก
1. กำหนดสินค้าดังต่อไปนี้เป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก
1.1 สินค้าที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่สุขภาพร่างกายและจิตใจ เนื่องในการใช้สินค้าหรือโดยสภาพของสินค้านั้น
1.2 สินค้าที่ประชาชนทั่วไปใช้เป็นประจำ ซึ่งการกำหนดฉลากของสินค้านั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคในการที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น
2. กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การจัดทำฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งหลักเกณฑ์เงื่อนไขดังกล่าว ต้องใช้ข้อความที่ตรงต่อความเป็นจริงและไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้า ได้แก่ ชื่อและสถานที่ประกอบการของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบธุรกิจที่จดทะเบียนแล้วในประเทศไทย ชื่อสินค้า ประเทศที่ผลิต ราคา ปริมาณ วิธีใช้ คำแนะนำ คำเตือน วันเดือนปีที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนด
3. คณะกรรมการว่าด้วยฉลากมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจแก้ไขฉลากที่ไม่ถูกต้อง หรือเลิกใช้ฉลากที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดนั้นได้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยการฝ่าฝืน ในการนี้คณะกรรมการว่าด้วยฉลากยังมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือวิธีการชั่วคราวในการบังคับให้เป็นไปตามข้อกำหนด หรือคำสั่งของคณะกรรมการว่าด้วยฉลากตามที่เห็นสมควร สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดหรือคำสั่งของคณะกรรมการว่าด้วยฉลากจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับ
4. เพื่อเป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมาย คณะกรรมการว่าด้วยฉลากมีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นว่าฉลากของผู้ประกอบธุรกิจมีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือรายละเอียดที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากกำหนดหรือไม่ ในเมื่อผู้ประกอบธุรกิจนั้นขอให้คณะกรรมการว่าด้วยฉลากพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการว่าด้วยฉลากจะต้องให้ความเห็นและแจ้งให้ผู้ขอทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการว่าด้วยชอบแล้ว แต่การให้ความเห็นดังกล่าวไม่ตัดอำนาจคณะกรรมการว่าด้วยฉลากที่จะพิจารณาวินิจฉัยใหม่เป็นอย่างอื่น เมื่อมีเหตุอันสมควร สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้กระทำไปตามความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ถ้าภายหลังคณะกรรมการว่าด้วยฉลากเห็นว่าความเห็นเดิมไม่ถูกต้องและได้วินิจฉัยใหม่เป็นอย่างอื่น เมื่อมีเหตุอันสมควร สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้กระทำการไปตามความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ไม่ต้องรับโทษทางอาญา ถ้าภายหลังคณะกรรมการว่าด้วยฉลากเห็นว่าความเห็นเดิมไม่ถูกต้องและได้วินิจฉัยใหม่เป็นอย่างอื่น
5. เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากมีอำนาจหน้าที่จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการตามที่คณะกรรมการมอบหมาย นอกจากนี้ คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ยังมีอำนาจที่จะสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดส่งเอกสาร หรือข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่มีผู้ร้องทุกข์หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคมาพิจารณาได้ ในการนี้จะเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงด้วยก็ได้
6. นอกจากอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว คณะกรรมการว่าด้วยฉลากยังมีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในเมื่อไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่ควบคุมในเรื่องฉลาก เช่น กฎหมายว่าด้วยยา กฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง เป็นต้น อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยฉลากในข้อนี้จึงเป็นการอุดช่องว่างกฎหมายต่างๆเหล่านี้
ที่มา Jakrit Jaipluem