รู้หรือไม่ "กล้วยน้ำว้า" รักษาสารพัดโรค ไม่ว่าจะกินสุก - ดิบ ให้ประโยชน์ต่างกัน
รู้หรือไม่ "กล้วยน้ำว้า" รักษาสารพัดโรค ไม่ว่าจะกินสุก - ดิบ ให้ประโยชน์ต่างกัน
"กล้วยน้ำว้า" ผลไม้ที่คนไทยรู้จัก คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะสามารถหาซื้อง่าย รสชาติอร่อย แถมยังมีสารอาหารครบถ้วน ทั้งคาร์โบไฮเดรต เกลือแร่ เหล็ก วิตามินครบ ทั้งวิตามินเอ บี อี ซี แถมยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ชะลอวัย คลายเครียด สรรพคุณสารพัดประโยชน์แบบนี้ "กล้วยน้ำว้า" ถึงได้เป็นอาหารสำหรับทุกเพศทุกวัย
เราจะมาความรู้จัก "กล้วยน้ำว้า" ให้มากขึ้นว่าสรรพคุณที่ว่ามามากมายนั้นแท้จริงแล้วถ้ากินกล้วย จะช่วยอะไรได้บ้าง เริ่มจากคนที่เป็นโรคเกี่ยวกับลำไส้ ไม่ว่าจะท้องเสีย ท้องผูก ตามตำราหมอยาไทย เชื่อว่า "กล้วยน้ำว้า" เป็นยาเย็น ดังนั้นเมื่อรู้สึกแสบร้อนในกระเพาะอาหาร ให้กิน"กล้วยน้ำว้า"จะช่วยได้ จะกินทั้งในแบบของ"กล้วยน้ำว้า"ดิบตากแห้ง แล้วตำเป็นผงละลายกับน้ร้อนดื่ม หรือ กินกล้วยสุกกับน้ำผึ้ง หรือจะกินกล้วยสุกแบบธรรมดาก็ได้
มีการวิจัย ในการใช้กล้วยรักษาโรคกระเพาะ พบว่า ได้ผลน่าพอใจ เนื่องจากกล้วยไปกระตุ้นให้ผนังกระเพาะสร้างเยื่อเมือกมากขึ้น เยื่อเมือกนี้จะปิดแผลทำให้แผลหายเร็ว ผู้ที่มีปัญหาแผลในกระเพาะจะมีอาการดีขึ้น กระเพาะแข็งแรงขึ้น โอกาสเป็นแผลก็น้อยลง แต่ไม่ไปลดกรดอันจะไปทำลายกลไกธรรมชาติของร่างกาย จนทำให้เกิดความแปรปรวนของธาตุในร่างกาย ดังนั้น กล้วยน้ำว้า จึงเป็นทั้งยารักษาและป้องกันโรคกระเพาะในเวลาเดียวกัน
"กล้วยน้ำว้า" ยังช่วยคลายเครียด เนื่องจากการที่ กรดอะมิโนทริปโทเฟนที่มีอยู่ในกล้วย ช่วยในการผลิตสาร ซีโรโทนิน ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้เกิดอาการผ่อนคลาย รู้สึกมีความสุข
สำหรับผู้ที่มีอาการของโรคกระเพาะ ให้นำ กล้วยน้ำว้าดิบ ฝานเป็นแว่นบางๆ อบ หรือ ตากให้แห้ง จากนั้นนำมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ก่อนอาหารวันละ 3 เวลา หรือจะผสมกับน้ำผึ้งด้วยก็ได้ เนื่องจากในกล้วยน้ำว้าดิบ มีสารฝาดสมานที่เรียกว่า แทนนิน ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย กล้วยน้ำว้าที่เพิ่งเริ่มสุกเปลือกยังมีสีเขียวอยู่ เป็นทั้งยาและอาหารที่ดีมากสำหรับคนท้องเสีย นอกจากแก้ท้องเสียแล้ว ยังช่วย เพิ่มกากใยในลำไส้อีกด้วย และในกล้วยน้ำว้ายังมีธาตุโพแทสเซียมสูงมาก ดังนั้น การใช้กล้วยแก้ท้องเสียเท่ากับให้ธาตุโพแทสเซียมชดเชยกับที่สูญเสียไปเวลามีอาการท้องร่วง
จากสรรพคุณทางยา ของกล้วยน้ำว้าดิบแล้ว มากันที่ กล้วยสุก กันบ้าง กล้วยน้ำว้า ที่สุกงอมมีฤทธิ์ช่วยระบาย เนื่องจากมีสารเพคตินอยู่เป็นจำนวนมาก จึงช่วยเพิ่มกากให้กับลำไส้ แต่เนื่องจากกล้วยสุกมีฤทธิ์ระบายไม่มากนัก หากต้องการกินกล้วยเพื่อช่วยในเรื่องของการขับถาย จึงต้องรับประทานเป็นประจำ วันละ 5-6 ลูก ติดต่อกันอย่างน้อย 7 วัน จึงจะเห็นผล และนอกจากนี้แล้ว เคล็ดลับที่อยากจะบอกใครมีปัญหาเรื่องกลิ่นปาก ให้กินกล้วยน้ำว้า 1 ผล ก่อนแปรงฟัน ในช่วงเช้า ช่วยลดกลิ่นปากลงได้
อย่างไรก็ตาม ถึงการกินกล้วยจะมีประโยชน์มากมาย แต่การบริโภคในปริมาณมากก็ส่งผลเสียกับร่างกายได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องระวัง การกินกล้วยน้ำว้า ในปริมาณมาก โดยเฉพาะกล้วยห่าม อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้องได้
ขอบคุณที่มา : https://www.technologychaoban.com/
หนังสือบันทึกของแผ่นดิน เล่มที่ 6 สมุนไพรท้องไส้ในวิถีอาเซียน โดย เภสัชกรหญิง ดร. สุภาภรณ์ ปิติพร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร