แพทย์ผิวหนัง แจงการเกิด "โรคงูสวัด" หลังการฉีดวัคซีนโควิด
แพทย์ผิวหนัง ชี้แจงการเกิด "โรคงูสวัด" หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจไม่ใช่สาเหตุจากวัคซีน แนะนำให้พบแพทย์เมื่อป่วย
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ชี้แจง ตามที่มีข่าวในโซเชียล เรื่องการเกิด "โรคงูสวัด" ตามหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดย "โรคงูสวัด" เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส varicella ซึ่งเป็นเชื้อเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคสุกใส และเป็นไวรัสที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับไวรัสเริม
(นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์)
สำหรับการเกิดการกระตุ้นให้เป็น "โรคงูสวัด" ตามหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 นั้น พบได้ไม่บ่อย ข้อมูลในเวลานี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า การเกิด "โรคงูสวัด" ตามหลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีสาเหตุเกิดจากวัคซีนเอง มีผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้เกิดการกระตุ้นของเชื้อไวรัส varicella หรือว่า เป็นเหตุบังเอิญที่พบร่วมกัน เนื่องจาก "โรคงูสวัด" เป็นโรคที่พบได้ค่อนข้างบ่อยอยู่แล้ว
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ ยังมีความเห็นว่า การได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นั้นเป็นผลดีมากกว่าผลเสีย
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเสริมว่า การเกิดการกระตุ้นของไวรัส varicella ที่ทำให้เกิด "โรคงูสวัด" มักเกิดในผู้สูงอายุ, ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง, ผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้ยาเคมีบำบัด
(พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ)
ย้ำว่า การเกิด "โรคงูสวัด" ตามหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ข้อมูลในเวลานี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นผลจากวัคซีนจริงหรือไม่ เพราะ "โรคงูสวัด" เกิดเองได้อยู่แล้ว
โดยตามรายงานพบการเกิด "โรคงูสวัด" ตามหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ประปรายในต่างประเทศ ส่วนใหญ่หลังจากได้รับวัคซีน ประเภทที่ใช้สารพันธุกรรม (mRNA vaccines) ทั้ง วัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สอง แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำให้งดวัคซีนเข็มที่สอง หากเกิด "โรคงูสวัด" หลังได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว
ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง ให้คำแนะนำว่า การรักษา "โรคงูสวัด" นั้นมีทั้งรักษาตามอาการ หรือรักษาร่วมกับการใช้ยาต้านไวรัสเพื่อช่วยให้หายเร็วขึ้น หากประชาชนสงสัยว่า เป็นโรคงูสวัด ควรรีบปรึกษาแพทย์ เนื่องจากการรักษาในช่วงแรกของโรคมีผลการรักษาดีกว่า
ขอบคุณภาพปก : โรงพยาบาลขอนแก่นราม