รู้จัก "หลอดเลือดอุดตัน" หลังฉีด "แอสตร้าเซนเนก้า" เช็กอาการเฝ้าระวัง 30 วัน
กรมวิทย์ฯ เคลียร์ชัดภาวะ "หลอดเลือดอุดตัน" หลังฉีด "วัคซีน โควิด-19" ไม่ต้องกังวล เช็กอาการบ่งชี้ - ห้องปฏิบัติการ 81 แห่งพร้อมตรวจวินิจฉัย
23 มิถุนายน 2564 เกาะติดสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ ในประเทศ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงาน เมื่อเวลา 07.50 น. ยอดผู้ติดเชื้อ โควิด-19 รวม 3,174 ราย จำแนกเป็น ติดเชื้อใหม่ 3,138 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ / ที่ต้องขัง 36 ราย หายป่วยกลับบ้าน 1,941 ราย ผู้ป่วยสะสม 199,676 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) เสียชีวิต 51 ราย
นายแพทย์ ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากที่มีข่าวการเกิด "หลอดเลือดอุดตัน" (ภาวะ VITT) หลังการได้รับวัคซีน โควิด-19 ในต่างประเทศเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ อาจทำให้ประชาชนรู้สึกวิตกกังวล ไม่กล้าฉีดวัคซีนนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขอให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ภาวะ VITT หรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า Vaccine-induced immune thrombotic thrombocytopenia เป็นภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่มีอาการหลอดเลือดอุดตันร่วมด้วย เกิดภายหลังได้รับวัคซีน โดยเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับวัคซีน โควิด-19 ชนิด Viral vector vaccine เช่น แอสตร้าเซนเนก้า (AstraZeneca) และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson & Johnson/Janssen)
แม้จะเป็นภาวะที่อาจเกิดอาการรุนแรง แต่อุบัติการณ์การเกิดภาวะไม่พึงประสงค์จากวัคซีน โควิด-19 ดังกล่าวคาดการณ์ว่าน่าจะต่ำมาก คือ อยู่ระหว่าง 1:125,000 - 1:1,000,000 โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอายุต่ำกว่า 60 ปี และส่วนมากเป็นเพศหญิง ผู้ป่วยจะแสดงอาการหลังได้รับวัคซีนประมาณ 4 - 30 วัน โดยจะมีอาการบ่งชี้ว่าอาจมีหลอดเลือดอุดตัน เช่น
- ปวดศีรษะรุนแรง
- ปวดท้องไม่ทราบสาเหตุ หรือปวดหลังรุนแรง
- ขาบวม
- เหนื่อยหอบ
- แน่นหน้าอก
โดยจะพบร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ทั้งหมดนี้ อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล และขอเชิญชวนให้ทุกคนไปรับการฉีดวัคซีน โควิด-19 ตามที่ได้นัดหมายไว้
อ่านข่าว - รักลูกอย่างไร ห่างไกล "โรคอ้วน" ลดเสี่ยงติดเชื้อ โควิด-19 รุนแรง - เสียชีวิต
CR : สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ , ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , Infectious ง่ายนิดเดียว