"โรคไข้หูดับ" อันตรายถึงชีวิต เตือนมือเป็นแผล งดจับเนื้อหมูสด
กรมอนามัย-กรมปศุสัตว์ เตือนมือเป็นแผลงดจับเนื้อหมูสด เสี่ยง "โรคไข้หูดับ" ย้ำเลิกกินเนื้อหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อันตรายถึงชีวิต
กรณีมีผู้เสียชีวิตจากการรับประทานเนื้อหมูไม่ปรุงสุกและสันนิษฐานว่า ผู้เสียชีวิตคนดังกล่าวได้หั่นชิ้นเนื้อเพื่อทำหมูกระทะ ในขณะที่มือมีบาดแผล จนเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
(นพ.สรวิศ ธานีโต)
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า แม้เชื้อโรคนี้สามารถติดต่อผ่านบาดแผลเข้าสู่กระแสเลือดได้ แต่กรณีนี้ถือว่าพบได้ไม่บ่อยนัก ที่มีการสัมผัสเชื้อจากเนื้อหมูดิบ จนเกิดติดเชื้อโดยเข้าไปทางบาดแผล
โดยปกติ "โรคไข้หูดับ" หรือโรคติดเชื้อสเตร็พโตค๊อกคัส ซูอิส จะเกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์หรือเลือดสัตว์ดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ มากกว่า
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์จะมีการควบคุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การเลี้ยงในฟาร์มที่อยู่ภายใต้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี สำหรับฟาร์มสุกร หรือ GAP (Good Agricultural Practices) สำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ และการเลี้ยงในฟาร์มขนาดเล็กตามมาตรฐาน GFM (Good Farm Management) ที่เน้นจัดการให้มีระบบ Biosecurity ที่เข้มงวด
ขณะที่ เพจเฟซบุ๊ก กรมอนามัย ได้โพสต์ว่า "โรคไข้หูดับป้องกันได้ โดยไม่กินเนื้อหมูแบบสุกๆ ดิบๆ เลือกซื้อเนื้อหมูที่ได้มาตรฐาน และหากมือเป็นแผลไม่ควรที่จะหยิบจับหมูสดโดยตรง เพื่อสุขภาพที่ดี #ขอให้เชื่อกรมอนามัย #กรมอนามัยส่งเสริมให้คนไทยสุขภาพดี"
อาการของ "โรคไข้หูดับ"
มีไข้ วิงเวียน ปวดศีรษะ อาเจียน ประสาทหูอักเสบจนหูดับ ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันตัวเองจาก "โรคไข้หูดับ" กรมอนามัยแนะนำดังนี้
1. หลีกเสี่ยงการบริโภคเนื้อดับ หรือสุกๆดิบๆ หมูป่วยหรือตายจากโรค
2. ผู้ปรงอาหาร ผู้เลี้ยง และผู้ชำแหละหมูที่มีบาดแผล ต้องปิดแผลและสวมถุงมือขณะสัมผัสหมู หากสัมผัสต้องล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ ร่วมกับใส่ยาฆ่าเชื้อโรคที่แผล
3. เลือกซื้อหมูจากตลาดสด หรือโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ
4. ควรทำให้สุกด้วยอุณหภูมิ ตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 10 นาที
ที่มา FB : กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข