ใส่สีตีไข่ "ระดับภูมิคุ้มกัน" บ่งชี้ประสิทธิภาพวัคซีน ซิโนแวค - แอสตร้าเซนเนก้า
ระดับภูมิคุ้มกันนี้ ไม่สามารถแปลผลส่งไปถึง "ประสิทธิภาพ" ของวัคซีน โควิด-19 ได้ อย่างที่หลายๆ คนพยายามเข้าใจหรือทำให้คนเข้าใจ / สับสน
23 มิถุนายน 2564 เกาะติดสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ ในประเทศ ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงาน เมื่อเวลา 12.30 น. (ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564) พบ ผู้ป่วยรายใหม่ 3,174 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 2,392 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 720 ราย จากเรือนจำ / ที่ต้องขัง 36 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 26 ราย ขณะที่ ผู้ป่วยยืนยันสะสม 199,676 ราย หายป่วยแล้ว 162,351 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 51 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 1,650 ราย ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 22 มิถุนายน 2564 มีผู้รับวัคซีน โควิด-19 สะสมทั้งหมด จำนวน 8,148,335 โดส โดยวันที่ 22 มิถุนายน 2564 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 165,673 ราย และ เข็มที่ 2 จำนวน 75,966 ราย
ล่าสุด ศาสตราจารย์ นายแพทย์ นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยผลการตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกัน โควิด-19 เปรียบเทียบระหว่างก่อนวัคซีนเข็มแรกของ ซิโนแวค (Sinovac) 1,931 คน และ แอสตร้าเซนเนก้า (AZ) 864 คน และที่สาม / สี่อาทิตย์หลังเข็มแรกของ ซิโนแวค (Sinovac) 1,928 คน และ แอสตร้าเซนเนก้า (AZ) 670 คน และสี่อาทิตย์หลังเข็มสองของ ซิโนแวค (Sinovac) 864 คน และ แอสตร้าเซนเนก้า (AZ) ที่สิบ / สิบสองอาทิตย์หลังเข็มแรก 468 คน
นายแพทย์ นิธิ ระบุ ผมยังอยากให้ดูข้อมูลเหล่านี้แล้วสรุปเพียงว่า
1) ก่อนฉีดวัคซีน โควิด-19 เรามีคนที่มีภูมิคุ้มกันสูงอยู่บ้างแล้ว ซึ่งอาจแปลว่าในประชากรไทยมีคนที่ติดเชื้อและไม่มีอาการเกินไปมาอยู่ หรือ ผล / วิธีตรวจไม่มีความจำเพาะ (specificity) 100%
2) หลังฉีดวัคซีน ทั้ง ซิโนแวค (Sinovac) และ แอสตร้าเซนเนก้า (AZ) มีคนที่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นได้จากพันธุกรรมของคนไทย หรือ คุณภาพวัคซีน (ผลจากการเก็บและขนส่ง - อุณหภูมิ)
3) ระดับภูมิคุ้มกันที่ 7 - 12 อาทิตย์หลังได้วัคซีน โควิด-19 ครั้งแรก ซิโนแวค (Sinovac) ได้ครบสองเข็ม แอสตร้าเซนเนก้า (AZ) ได้เข็มเดียว ระดับภูมิคุ้มกันคนที่ได้ ซิโนแวค (Sinovac) ครบแล้วสูงกว่า
ระดับภูมิคุ้มกันนี้ ไม่สามารถแปลผลส่งไปถึง "ประสิทธิภาพ" ของวัคซีน โควิด-19 ได้ อย่างที่หลายๆ คนพยายามเข้าใจหรือทำให้คนเข้าใจ / สับสน (อย่างน้อยก็เท่าที่ข้อมูลปัจจุบันมี) เพราะประสิทธิภาพวัคซีนตัวหนึ่งจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกดูวิเคราะห์หรือควบคุมในการวัดระดับภูมิคุ้มกันในห้องแล็บเช่นนี้
ขอบคุณข้อมูล : ทีมวิจัยโรงพยาบาลจุฬาภรณ์และฝ่ายวิจัยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
อ่านข่าว - อัปเดตจัดสรรวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" ที่ขอมาไม่เทใคร จะได้กันหมดไหมขอเวลานิด