"เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า"หวั่นคนเข้าใจผิดเรื่อง"บุหรี่ไฟฟ้า"
"เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้าโต้ หมอรามาฯ"อ้างงานวิจัยทำให้คนเข้าใจผิดเรื่อง"บุหรี่ไฟฟ้า" เผยรัฐบาลอังกฤษแจก"บุหรี่ไฟฟ้า"ช่วยคนไร้บ้านเลิกบุหรี่
เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า“ลาขาดควันยาสูบ”หรือ“ECST”และแอดมินเฟซบุ๊ก“บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร” เผยกับผู้สื่อข่าวกรณีเครือข่ายรณรงค์ต่อต้านบุหรี่เผยผลวิจัยใหม่ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้าพบนิโคตินสูงและอันตรายไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดาพร้อมระบุว่ารัฐบาลมีสิทธิแบนบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อปกป้องสุขภาพและควบคุมสินค้าที่อันตรายว่า
นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า “กลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST)” กล่าวว่า งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาที่ พญ. เริงฤดี ปธานวนิช จากคณะแพทยศาสตร์ รพ. รามาธิบดีหยิบยกมาเป็นการทดลองในสัตว์ทดลองเพียง 8 ตัว วัดผลใน 5 นาที แล้วสรุปว่าระดับนิโคตินในเลือดที่หนูได้รับจากไอละอองของบุหรี่ไฟฟ้าเพียง 1 ยี่ห้อสูงกว่าการสูบบุหรี่ 5-8 เท่า ซึ่งปริมาณที่ใช้ในการทดลองไม่ได้สะท้อนถึงการใช้จริงในคนและยังขัดแย้งกับรายงานของสมาคมโรคหัวใจและหลอดเลือดอังกฤษที่พูดถึงการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American College of Cardiology ซึ่งศึกษาผลกระทบด้านหัวใจและหลอดเลือดของผู้สูบบุหรี่ที่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้า พบว่าระบบหลอดเลือดของผู้ที่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าดีขึ้นในระยะเวลา 1 เดือน อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก็ยังออกมาสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อลดความเสี่ยงด้านหัวใจและหลอดเลือด การออกมาให้ข้อมูลแบบนี้เท่ากับทำให้ผู้ใช้บุหรี่และประชาชนทั่วไปสับสนและเข้าใจผิด ถือว่าปราศจากความรับผิดชอบ
“ถ้าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายร้ายแรงเท่ากับบุหรี่ ทำไมประเทศอังกฤษถึงสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน โดยล่าสุดรัฐบาลอังกฤษจะทดลองแจกบุหรี่ไฟฟ้าให้กับคนไร้บ้านเพื่อดูแลสุขภาพของคนกลุ่มนี้และอาจจะช่วยให้พวกเขาเลิกบุหรี่ได้ นี่เป็นตัวอย่างของหน่วยงานสาธารณสุขที่ดีที่ทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นกลางและหาทางเลือกที่เหมาะสมให้กับประชาชนและผู้สูบบุหรี่ ไม่ใช่ให้แต่ข้อมูลด้านลบ โดยไม่เปิดโอกาสให้สังคมพิจารณาข้อมูลด้านอื่นเพื่อตัดสินใจด้วยตนเองเลย”นายอาสา กล่าว
ปัจจุบันกว่าร้อยละ 70 ของคนไร้บ้านในอังกฤษสูบบุหรี่ ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่มีกำลังทรัพย์ในการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้า มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (UCL) จึงมีโครงการทดลองแจกบุหรี่ไฟฟ้าให้กับคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุน 1.7 ล้านปอนด์จากสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติและพันธมิตรทางวิชาการอีก 7 สถาบัน เช่นมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน มหาวิทยาลัยควีนส์ แมรี่ ลอนดอน มหาวิทยาลัยยอร์ค เป็นต้น โดยจะทำการศึกษาในกลุ่มเป้าหมายจำนวน 480 คนทั่วสหราชอาณาจักร และหากผลการศึกษาออกมาพบว่าการให้เปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้กลุ่มคนไร้บ้านเลิกบุหรี่ได้ ศูนย์จัดการดูแลคนไร้บ้านก็สามารถนำเอาวิธีนี้ไปใช้เพื่อช่วยลดผลกระทบของโรคที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ให้กับคนไร้บ้านได้ในอนาคตอีกด้วย
ด้านนายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ กล่าวว่าเราไม่เคยบอกว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายแต่ถ้าเทียบกับบุหรี่แล้วบุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการสูบบุหรี่แน่นอนตามที่สำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ สถาบันมะเร็งสหรัฐอเมริกา กระทรวงสาธารณสุขนิวซีแลนด์ รวมถึงมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยอื่นๆ เช่น มหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ และสถาบันวิจัย Cochrane สรุปตรงกันไว้ว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ดังนั้นการอ้างว่าต้องแบนบุหรี่ไฟฟ้าโดยมีเป้าหมายคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคนั้นฟังไม่ขึ้น คุณหมอประกิต วาทีสาธกกิจ อ้างว่า 41 ประเทศทั่วโลกแบนบุหรี่ไฟฟ้า แต่กลับไม่พูดถึงอีก 66 ประเทศทั่วโลกที่ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นสินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายและป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนได้ แสดงให้เห็นว่านโยบายควบคุมยาสูบของไทยไม่มีประสทิธิภาพและล้มเหลวโดยสิ้นเชิง