ข่าว

พบ "หัวใจอักเสบ" กว่า 1,200 ราย หลังรับวัคซีน โควิด-19 ไฟเซอร์ - โมเดอร์นา

พบ "หัวใจอักเสบ" กว่า 1,200 ราย หลังรับวัคซีน โควิด-19 ไฟเซอร์ - โมเดอร์นา

25 มิ.ย. 2564

สหรัฐฯ พบกรณี "หัวใจอักเสบ" กว่า 1,200 ราย หลังรับวัคซีน โควิด-19 ชนิด เอ็มอาร์เอ็นเอ ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา กล้ามเนื้อ - เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในประชากรอายุน้อย

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC) รายงานเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 เกี่ยวกับการตรวจพบกรณีกล้ามเนื้อ "หัวใจอักเสบ" และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในประชากรอายุน้อยมากกว่า 1,200 ราย ที่ได้รับวัคซีน โควิด-19 ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ชนิด เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA)

คณะผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการสร้างภูมิคุ้มกันของศูนย์ฯ ร่วมหารือเพื่อทบทวนความเสี่ยงปัญหาหัวใจที่เกิดขึ้นยากเหล่านี้ในประชากรอายุน้อยที่ได้รับวัคซีนดังกล่าว

ศูนย์ฯ รายงานการตรวจพบกรณี กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ในประชากรอายุน้อย รวม 1,226 ราย ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ ไฟเซอร์ (Pfizer) หรือ โมเดอร์นา (Moderna) เมื่อนับถึงวันที่ 11 มิ.ย. โดยแบ่งเป็นหลังรับวัคซีนโดสแรก 267 ราย หลังรับวัคซีนโดสสอง 827 ราย และยังไม่ทราบจำนวนโดสที่ได้รับอีก 132 ราย

ผู้ป่วยกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล 309 ราย และผู้ป่วยที่ออกจากโรงพยาบาลแล้ว 295 ราย โดยราวร้อยละ 79 ของผู้ป่วยทั้งหมดหายดีสมบูรณ์ แต่ยังเหลือผู้ป่วยที่ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 9 ราย ซึ่งในจำนวนนี้รักษาตัวในแผนกผู้ป่วยหนัก 2 ราย เมื่อนับถึงวันที่ 11 มิ.ย.

ศูนย์ฯ ชี้ว่ากรณีส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง อาทิ เหนื่อยล้า เจ็บหน้าอก และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะหายไปอย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นชายอายุต่ำกว่า 30 ปี และเกิดขึ้นหลังรับวัคซีน โควิด-19 ครบสองโดสมากกว่าโดสเดียว

คณะผู้เชี่ยวชาญ เผยว่า พวกเขาจำเป็นต้องติดตามผลกับผู้ป่วยในอีก 2 -3 เดือนข้างหน้า เพื่อให้ได้ภาพรวมของผลกระทบจากการฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอที่สมบูรณ์

ประธานกลุ่มความปลอดภัยของคณะกรรมการฯ เกรซ ลี กล่าวว่า ระยะเวลาแสดงอาการของผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนมีความชัดเจน โดยจะเกิดขึ้นบ่อยที่สุดภายใน 1 สัปดาห์หลังรับวัคซีนโดสที่สอง และอาการที่พบบ่อยที่สุดคือเจ็บหน้าอก พร้อมเสริมว่าศูนย์ฯ กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น วิธีจัดการ และพิจารณาว่าเป็นปัญหาในระยะยาวหรือไม่

อย่างไรก็ดี คณะผู้เชี่ยวชาญ ย้ำว่า เหตุการณ์ดังกล่าวมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยาก หรือคิดเป็นผู้ป่วยราว 12.6 รายต่อวัคซีน 1 ล้านโดส

ด้าน ศูนย์ฯ ย้ำว่า ประโยชน์ของวัคซีน โควิด-19 มีมากกว่าความเสี่ยง และการฉีดวัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอทุกล้านโดสสามารถป้องกันการติดเชื้อและการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้มากกว่า หากเทียบกับกรณีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่อาจเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ฯ ชี้ว่า ราวร้อยละ 45.4 ของประชากรสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบโดส และร้อยละ 53.6 ของประชากรได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส เมื่อนับถึงวันพุธ (23 มิ.ย.) โดยประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไปได้รับวัคซีนครบโดสราว 144.8 ล้านคนแล้ว

หัวใจอักเสบ, โควิด-19, วัคซีน โควิด-19, เอ็มอาร์เอ็นเอ, ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ, เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

(แฟ้มภาพซินหัว : บุคลากรการแพทย์เตรียมวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ วันที่ 18 มิ.ย. 2021)

CR : xinhuathai.com