ย้อนอดีตรำลึก "สุนทรภู่" กวีเอกสี่แผ่นดิน
26 มิถุนาฯ วัน"สุนทรภู่" ย้อนอดีตรำลึก กวีเอกสี่แผ่นดิน บุคคลที่ถูกจารึกเอาไว้ในมรดกโลก
“สุนทรภู่ กวีสี่แผ่นดิน” ชื่อนี้เรื่องลือไปทั้งแผ่นดินสยาม หากย้อนกลับไปสมัยที่ยังเป็นเด็กๆ เชื่อว่าทุกคน คงจะได้นั่งเรียน นั่งอ่าน ท่องบทกลอน ต่างๆ ของพระสุนทรโวหาร หรือ "สุนทรภู่" กวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ท่านนี้ เพราะถือว่าเป็นวิชาบังคับที่อยู่ในแบบเรียนภาษาไทย โดยเฉพาะวรรณคดีเรื่อง “พระอภัยมณี”
เพราะวรรณคดี “พระอภัยมณี” ถือเป็นวรรณคดีชิ้นเยี่ยม ที่ถูกประพันธ์ขึ้นเป็นนิทานคำกลอนที่มีความยาวมากถึง 94 เล่มสมุดไทย เมื่อพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ จะมีความยาวกว่าหนึ่งพันสองร้อยหน้า สำหรับระยะเวลาในการประพันธ์ฯฯ จากข้อมูลไม่มีการระบุไว้อย่างแน่ชัด แต่คาดว่าสุนทรภู่เริ่มประพันธ์ ในราวปี พ.ศ. 2364–2366 โดยไปสิ้นสุดการประพันธ์ในราว พ.ศ. 2388 รวมระยะเวลากว่า 20 ปี
และเนื่องในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวันเกิดของ “สุรทรภู่” กวีเอก สี่แผ่นดิน “สุนทรภู่” เกิดในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง (ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329) ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง (ซึ่งเป็นบริเวณสถานีรถไฟบางกอกน้อยปัจจุบันนี้) ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 69 ปี โดยท่านเกิดหลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ได้ 4 ปี
สมัยเด็กๆ “สุนทรภู่” ท่านเรียนหนังสืออยู่ที่วัดศรีสุดาราม (แต่เดิมเรียกว่า วัดชีปะขาว) เมื่อวัยเพียง 20 ปี ได้แต่งนิทานคำกลอนเรื่องแรก คือ โคบุตร ต่อมาไม่นานก็แต่งนิราศเมืองแกลง จนมีชื่อเสียงเป็นที่เล่าลือกันไปทั่ว และจากวันนั้น จนถึงวันนี้ 26 มิถุนายน 2564 จึงครบรอบ 235 ปี
กระทั่ง “สุนทรภู่” อายุได้ประมาณ 2 ขวบ มารดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว (ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ 4 ว่า วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย) ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวนในกรมพระคลังสวน แต่ไม่ชอบทำงานอื่นนอกจากแต่งบทกลอน ซึ่งสามารถแต่งได้ดี ตั้งแต่ยังหนุ่มๆ
และกุฎิวัดเทพธิดาราม ที่สุนทรภู่บวชจำพรรษา ก็เป็นสถานที่ค้นพบวรรณกรรมที่ทรงคุณค่ามากมาย อาทิ พระอภัยมณี ฯลฯ ที่ท่านเก็บซ่อนไว้ใต้เพดานหลังคากุฎิของท่าน และในโอกาสครบรอบ 235 ปี กับวรรณกรรมพระอภัยมณี ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานชิ้นเอก ตั้งแต่มีการใช้ใบลานในการเขียนหนังสือ และสามารถยืนยงคงกระพันธุ์ จนลุล่วงมาจนถึง "ยุค 5 จี" ซึ่งก็ถูกบันทึกลงเป็นบุคคลสำคัญของโลกเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ ด้วยความสามารถของ “สุนทรภู่” ท่านจึงได้โอกาสในทำงานและเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยเฉพาะในสมัย (รัชกาลที่ 2) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย “สุนทรภู่” ท่านได้ดำรงตำแหน่งเป็น ขุนสุนทรโวหาร และเมื่อสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) จึงได้เลื่อนขึ้นเป็น พระสุนทรโวหาร (ภู่)
กระทั่งได้รับเกียรติจากยูเนสโก ให้เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านศิลปวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2529 ในช่วงที่ครบรอบ 200 ปีชาตกาลของสุนทรภู่ แม้หลายคนอาจเข้าใจว่า "สุนทรภู่" เป็นสามัญชนคนธรรมดา แต่แท้ที่จริงแล้ว ท่านเกิดในตระกูลขุนนาง และได้รับการศึกษาที่ดีผู้หนึ่ง ดังนั้น ทุกๆวันที่ 26 มิถุนายน เราจึงมาร่วมกันรำลึกคุณงามความดี และคุณประโยชน์ที่ท่าน ได้สร้างสรรเอาไว้ให้ลูกหลานอย่างมากมาย