"ทส."เผย"โลมากระโดด" ติดเชื้อป่วยหนักจนเข้าฝูงไม่ได้ เกยตื้นชายหาดพังงา ตาย 8 ตัว
"กระทรวงทรัพย์ฯ" เผยผลชันสูตรสาเหตุ"โลมากระโดด" เกยตื้นตาย 8 ตัว บริเวณชายหาดพังงา พบอวัยวะภายในอักเสบรุนแรงหลายแห่ง คาดเกิดจากติดเชื้อในฝูงตามธรรมชาติ จนร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถรวมฝูงกับตัวอื่นได้
จากกรณีเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2564 ที่ผ่านมา พบฝูงโลมากระโดด จำนวน 8 ตัว เกยตื้นตาย บริเวณเกาะทุ่งนางดำ อ. คุระบุรี จ. พังงา และอีก 5 ตัว ว่ายติดอยู่บริเวณน้ำตื้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ส่งเจ้าหน้าที่และทีมสัตวแพทย์ตรวจสอบสภาพโลมาทั้ง 8 ตัว ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้ายและบาดแผลจากเครื่องมือประมง ส่งชันสูตรหาสาเหตุ
ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2564 ได้รับรายงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรณีพบโลมากระโดดจำนวน 8 ตัว ตายเกยตื้น และอีก 5 ตัว ว่ายวนใกล้อ่าวบริเวณทุ่งนางดำ อ. คุระบุรี จ. พังงา จึงได้สั่งเร่งตรวจสอบสาเหตุการตายและช่วยเหลือโลมาที่ยังมีชีวิตอยู่ทันที
สำหรับเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจาก ไม่เคยพบเห็นโลมาเกยตื้นตายพร้อมกันในจำนวนมากขนาดนี้ อีกทั้งโลมากระโดด จัดอยู่ในสัตว์คุ้มครองตามบัญชี CITES หมายเลข 2 ซึ่งต้องอนุรักษ์ดูแลมิให้ลดจำนวนลงและควบคุมการส่งออก นอกจากนี้ ยังอยู่ในบัญชีสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และอยู่ระหว่างจัดทำบัญชีแนบท้าย พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งหากพบการตายผิดธรรมชาติ จะต้องเร่งหาสาเหตุและแนวทางการป้องกันแก้ไขมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้จัดทีมลาดตระเวนเฉพาะกิจ เพื่อสำรวจในพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอาจจะมีโลมาฝูงอื่นบริเวณใกล้เคียง และขอฝากพี่น้องประชาชนและชาวประมงทุกคนว่า“การทำกิจกรรมใด ๆ ในทะเล จะต้องคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดกับโลมาและสัตว์ทะเลอื่นๆ การทำประมงในพื้นที่ที่พบสัตว์ทะเลหายาก ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เครื่องมือประมงต้องไม่ส่งผลกระทบ โดยเฉพาะต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหามาตรการคุมเข้มทุกกิจกรรม เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรและสร้างความเชื่อมั่นในระดับสากล” ซึ่งตนจะได้กำชับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน ต่อไป
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยผลการชันสูตรการตายของโลมาทั้ง 8 ตัว ว่า จากการตรวจสอบของทีมสัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ที่เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อเวลา17.00น.ในวันนี้ (26 มิ.ย.) ว่า สภาพโลมาที่เสียชีวิตไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย หรือจากคราบน้ำมัน และไม่มีบาดแผลบนตัวและในช่องปาก เบื้องต้นสรุปได้ว่าไม่ได้เกิดจากเครื่องมือประมงหรือการล่าแต่อย่างใด จึงได้มอบหมายให้ นางสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กำกับทีมสัตวแพทย์ชันสูตรอย่างละเอียด โดยใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมง พบว่า โลมากระโดดทั้ง 8 ตัว เป็นเพศผู้ทั้งหมด ทุกตัวอยู่ในเกณฑ์ผอม ผลการชันสูตรซากพบว่าทุกตัวมีการติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบรุนแรงของอวัยวะภายในหลายแห่ง พบซิสต์ของพยาธิในชั้นไขมันและบริเวณระบบสืบพันธุ์ สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการป่วยด้วยโรคที่ติดเชื้อภายในฝูงตามธรรมชาติเป็นเวลานานหลายวัน ทำให้ร่างกายอ่อนแอไม่สามารถรวมฝูงกับตัวอื่นได้ ประกอบกับสภาพคลื่นลมแรงทำให้เกิดการเกยตื้นดังกล่าว สำหรับโลมากระโดดอีก 5 ตัว ที่ยังมีชีวิต ทีมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลได้ช่วยกันนำออกไปยังบริเวณน้ำลึกอย่างปลอดภัยแล้ว
ทั้งนี้ ตนได้รับสั่งการจากนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ประสานจังหวัด กรมประมง ทหารเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนในการลาดตะเวนและแนวทางการป้องกันการใช้เครื่องมือประมงที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล ต่อไป
ด้านผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงค์นาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล
เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า โลมากระโดดสามารถพบได้ทั้งในฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน พฤติกรรมโลมากระโดด ว่าเป็นสัตว์สังคมอยู่รวมกันเป็นฝูง ส่วนมากไม่ค่อยเข้ามาในพื้นที่อ่าว และมักออกหากินเวลากลางคืน ภัยคุกคามหลักของโลมากระโดด คือ การล่าตามธรรมชาติ และมักมีปรสิตที่เกาะบริเวณผิวหนังและปรสิตที่เข้าไปในตัว สำหรับกิจกรรมมนุษย์ที่ส่งผลกระทบ ส่วนมากมาจากเครื่องมือประมงและคราบน้ำมันในทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมและจัดการได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งในด้านกฎหมาย นโยบาย และการมีส่วนร่วมของประชาชนและชาวประมงด้วยเช่นกัน ดร. ธรณ์ กล่าวแสดงความเห็น