วิจัยพบ "ไวรัสโคโรน่า" แพร่ระบาด 20,000 ปีก่อน ทิ้งร่องรอยในดีเอ็นเอมนุษย์
งานวิจัยชิ้นใหม่พบการแพร่ระบาดของเชื้อ "ไวรัสโคโรน่า" เมื่อราว 20,000 ปีก่อน รุนแรงอย่างมากจนทิ้งร่องรอยไว้ในดีเอ็นเอของมนุษย์ยุคปัจจุบัน
เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ (The New York Times) รายงานโดยอ้างอิงงานวิจัยชิ้นใหม่ที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเมื่อราว 20,000 ปีก่อน ซึ่งรุนแรงอย่างมากจนทิ้งร่องรอยไว้ในดีเอ็นเอของมนุษย์ยุคปัจจุบัน
รายงานดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ระบุว่า เมื่อเวลาผ่านไปหลายชั่วอายุคน เชื้อไวรัสสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของจีโนม (genome) หรือชุดข้อมูลทางพันธุกรรมของมนุษย์ นักวิจัยจึงศึกษาความผันแปรทางพันธุกรรมในจีโนมมนุษย์เพื่อจัดลำดับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสขึ้นใหม่
นักวิจัย พบว่า ผู้คนในเอเชียตะวันออกเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสมัยโบราณ และคาดการณ์ว่า ยีนเหล่านั้นได้พัฒนาระบบต้านเชื้อไวรัสเมื่อประมาณ 20,000 - 25,000 ปีก่อน ขณะที่จีโนมมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลง เชื้อไวรัสก็เกิดการวิวัฒนาการเช่นกัน โดยโปรตีนของเชื้อไวรัสจะพัฒนาเพื่อเอาชนะกลไกการป้องกันตัวของร่างกายของพาหะ (host)
รายงาน ระบุว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เชื้อไวรัสโคโรน่า 3 สายพันธุ์ แพร่ระบาดสู่มนุษย์และก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจรุนแรง ได้แก่ โรคโควิด-19 (Covid-19) , โรคซาส์ (SARS) และ โรคเมอร์ส (MERS) ซึ่งการวิจัยเชื้อไวรัสแต่ละสายพันธุ์แสดงให้เห็นว่าเชื้อไวรัสแพร่ระบาดจากค้างคาวหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นมาสู่มนุษย์
อ่านข่าว - เปิดแล้ว "เฉิงตู เทียนฝู่" สนามบินพลเรือนใหญ่สุดของจีน รองรับ 60 ล้านคนต่อปี (คลิป)
(แฟ้มภาพซินหัว : ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยเดินอยู่ในเมืองบูคาเรสต์ของโรมาเนีย วันที่ 14 พ.ค. 2021)
CR : xinhuathai.com