"5 สมุนไพรไทย" ใกล้ตัว "ลดความดันโลหิตสูง"
"โรคความดันโลหิตสูง" ภัยเงียบคุกคามคนทั่วโลก ทั้งยังเป็นสาเหตุที่คร่าชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้นเพื่อเป็นควบคุมระดับความดันโลหิต นอกจากการทานยาตามแพทย์สั่งแล้ว สมุนไพรไทยถือว่าเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ หาทานได้ง่ายๆ
ปัจจุบันผู้ป่วย "โรคความดันโลหิตสูง" มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เป็นโรคความดันโลหิตสูง ถึง ร้อยละ 22 ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงยัง เป็น 1 ใน สาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อีกทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ ทำให้ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต้องกินยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต แต่หลายคนก็หันมาใช้การทาน สมุนไพรไทย ที่มีผลช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ ดังนี้
1. กระเจี๊ยบแดง
จากการทดลองพบว่า กระเจี๊ยบแดง สามารถลดความดันโลหิต อีกทั้งยังขับปัสสาวะ ขับยูริก ลดการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะ หลังการผ่าตัดในไตได้ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการดื่มชากระเจี๊ยบ วันละ 2-3 ครั้ง สามารถลดความดันโลหิตตัวล่างลงได้ ร้อยละ 7.2 ถึง ร้อยละ 13 ดังนั้น ชากระเจี๊ยบจึงเหมาะสำหรับเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
2. ขึ้นฉ่าย
ชาวเอเซีย นิยมใช้ ขึ้นฉ่าย เป็นยาลดความดันโลหิตมานานกว่า 2 พันปีแล้วโดย ชาวจีน ชาวเวียดนาม แนะนำให้กิน ขึ้นฉ่าย วันละ 4 ต้น เพื่อรักษาความดันเป็นปกติ แพทยอายุรเวทในอินเดีย จะสั่งจ่ายเมล็ดขึ้นฉ่ายเพื่อขับปัสสาวะ สำหรับผู้ป่วยที่บวมน้ำ ปัจจุบันมีการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา พบว่า ขึ้นฉ่าย มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ขับปัสสาวะ ลดบวม คุมกำเนิด ลดจำนวนอสุจิ ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดคอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ยับยั้งการเกิดมะเร็ง ยับยั้งเนื้องอก ต้านการอักเสบ ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ขับระดู เป็นต้น
3.บัวบก
พืชสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เนื่องจาก บัวบก ทำให้ไหลเวียนของเลือดทั้งในหลอดเลือดดำ และหลอดเลือดฝอยมีการไหลเวียนดีขึ้น มีคุณสมบัติขยายหลอดเลือด ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดี นอกจากนี้ ยังมีประโยชน์ต่อระบบประสาททำให้การเรียนรู้ดีขึ้น มีฤทธิ์คลายความเครียด ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
4.คาวตอง หรือ พลูคาว
หมอยาทั่วไปทั้งอีสาน และภาคเหนือ หรือไทยใหญ่ มีความเชื่อว่า การกินคาวตอง หรือ พลูคาว สดๆ กับน้ำพริก หรือใช้รากต้มกับปลาไหล รากตำเป็นน้ำพริกกิน จะเป็นยารักษาโรค ความดันโลหิตสูง ริดสีดวงทวาร แผลในกระเพาะอาหารได้ พลูคาว เป็นสมุนไพรที่มีการศึกษาวิจัย และจดสิทธิบัตรมากตัวหนึ่ง ซึ่งจากการวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็พบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ของพลูคาวเช่นเดียวกับการใช้ประโยชน์ของหมอยาพื้นบ้าน
5. มะรุม
อาหารสุขภาพที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด จากการศึกษาทางเภสัชวิทยา ประกอบกับการใช้ของชาวบ้านทั้งไทยและต่างประเทศ พบว่า ส่วนของใบและรากของมะรุมมีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตได้ ทั้งนี้ พบสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ลดความดันโลหิต เช่น niazinin A, niazinin B, niazimicin และ niaziminin A and B
สำหรับตำรับยาแก้ความดันโลหิตสูง ซี่งต้องกินอย่างต่อเนื่อง เช่น
ตำรับที่ 1 นำรากมาต้มกินเป็นซุป
ตำรับที่ 2 นำยอดมาต้มกิน
ตำรับที่ 3 นำยอดอุ๊ปใส่เนื้อวัวกิน ซึ่งต้องเป็นเนื้อวัวเท่านั้น
ตำรับที่ 4 นำรากมะรุมต้มกับรากย่านางกิน
ตำรับที่ 5 ใช้ยอดมะรุมสด โดยจะเป็นยอดอ่อนหรือยอดแก่ก็ได้ นำมาโขลกคั้นเอาน้ำ (ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปพอให้เหลวข้น) ผสมน้ำผึ้งพอหวาน กินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว ยานี้จะช่วยลดความดัน เมื่อหยุดกินยาความดันโลหิตก็เพิ่มขึ้นมาอีก จึงต้องกินอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลโดย รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์