"ประกันสังคม" ลดจ่ายเงินสมทบ "ผู้ประกันตน ม.40" เหลือร้อยละ60 นาน 6 เดือน
"เลขาฯประกันสังคม" เผยหลักการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคม ตาม ม.40 เหลือ ร้อย 60 เป็นเวลา 6 เดือน มีผลบังคับใช้แล้ว
29 มิ.ย. 2564 นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (เลขาฯ สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักการลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกันตน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ให้เหลือร้อยละ 60 ของเงินสมทบ (เดิม) เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน และมีผลบังคับใช้แล้ว
โดยมีใจความในการลดเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน ในงวดเดือนสิงหาคม 2564 – มกราคม 2565 ให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในอัตราใหม่ 3 ทางเลือก ดังนี้
ทางเลือกที่ 1 ให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย จากเดิมจ่ายในอัตรา 70 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่ เป็น 42 บาท/เดือน
ทางเลือกที่ 2 ให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย และกรณีชราภาพ จากเดิมจ่ายในอัตรา 100 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 60 บาท/เดือน
ทางเลือกที่ 3 ให้ผู้ประกันตนซึ่งจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย ชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร จากจากเดิมจ่าย ในอัตรา 300 บาท/เดือน จ่ายอัตราใหม่เป็น 180 บาท/เดือน
เลขา สปส. ระบุอีกว่าการปรับลดอัตราเงินสมทบเป็นระยะเวลา 6 เดือน จะช่วยให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 นำส่งเงินสมทบลดลง 378 ล้านบาท บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน และเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน และเป็นการสร้างหลักประกันให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 หรือ "ประกันสังคม" ม.40 จูงใจให้แรงงานภาคอิสระที่ยังไม่ได้รับ ความคุ้มครอง จากสำนักงานประกันสังคมให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้นอีกด้วย