ข่าว

รู้จัก "แผลกดทับ" อย่าปล่อยไว้ให้รุนแรง อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

"แผลกดทับ" หากไม่รีบรักษานอกจากรุนแรงจนต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล อาจเกิดการติดเชื้อจากแผลกดทับอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

เมื่อพูดถึง "แผลกดทับ" นับเป็นแผลที่ส่งผลกับการใช้ชีวิตโดยตรง เพราะมีการกดทับลงไปจนเนื้อตายและเกิดแผลขึ้นมา แผลลักษณะนี้มักพบในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมน้อย รวมทั้งผู้สูงอายุ หากไม่รีบรักษานอกจากรุนแรงจนต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล อาจเกิดการติดเชื้อจากแผลกดทับอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

รู้จักแผลกดทับ

แผลกดทับเป็นแผลที่เกิดจากการกดทับลงไปเป็นเวลานาน ทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลายแบบเฉพาะที่ เกิดเนื้อตายและแผลขึ้นมา อาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ เช่น ส้นเท้า ก้นกบ ด้านข้างสะโพก เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงแผลกดทับ

- ขาดการเคลื่อนไหว เช่น นอนติดเตียงตลอดเวลา

- เคลื่อนไหวไม่ค่อยดี

- ผอม ผิวหนังบาง ขาดน้ำ ขาดอาหาร

- โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับเส้นเลือด

- ควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ทำให้เกิดความอับชื้นจากการใส่ผ้าอ้อมขณะนอนหลับ

ลักษณะแผลกดทับ

แผลกดทับสามารถระบุระยะที่เป็นได้จากระดับของเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย

ระยะที่ 1 ผิวหนังมีรอยแดง ๆ ใช้มือกดแล้วรอยแดงไม่จางหายไป ผิวไม่ฉีกขาด

ระยะที่ 2 ผิวหนังเสียหายบางส่วน แผลตื้น ไม่พอง ไม่เป็นตุ่มน้ำใส

ระยะที่ 3 แผลลึกถึงชั้นถึงไขมัน สูญเสียผิวหนังทั้งหมด

ระยะที่ 4 แผลลึกมองเห็นถึงกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ สูญเสียผิวหนังทั้งหมด

นอกจากนี้ ยังมีแผลกดทับที่เรียกว่า Deep Tissue Injury (DTI) เป็นแผลกดทับที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ผิวหนังไม่ฉีกขาด มีสีม่วงเข้มหรือสีเลือดนกปนน้ำตาล หรือพองเป็นตุ่มน้ำปนเลือด อาจเจ็บปวดร่วมด้วย ไม่สามารถระบุระยะที่เป็นได้

ตรวจวินิจฉัยแผลกดทับ

การตรวจวินิจฉัยแผลกดทับ แพทย์จะพิจารณาจากข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ได้แก่ ปัญหาสุขภาพ สมรรถภาพการเคลื่อนไหว ประวัติการเกิดแผลกดทับ ตำแหน่งที่เกิดแผลกดทับ การกลั้นปัสสาวะและอุจจาระ ระบบไหลเวียนเลือด ฯลฯ

 

วิธีการรักษาแผลกดทับ

หัวใจสำคัญในการรักษาแผลกดทับ คือ การลดภาวะเสี่ยงจากการกดทับ ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดแรงกดทับที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งน้อยลง ดูแลแผล บรรเทาอาการเจ็บแผล ป้องกันการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งการรักษาแบบองค์รวมจะช่วยให้สามารถดูแลได้ครบทุกด้าน วิธีการรักษาแผลกดทับ ได้แก่

- ลดแรงกดทับ โดยจัดท่านอนผู้ป่วยให้พลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง หากนอนตะแคงควรนอนที่ 30 - 45 องศา นอนหนุนศีรษะไม่สูงเกิน 30 องศา ไม่นั่งกดทับแผล

- ดูแลแผล เนื่องจากแผลจะหายในที่ที่มีความชุ่มชื้นอยู่บ้าง ดังนั้นในการทำแผลแพทย์จะพิจารณาน้ำหลั่งจากแผล ถ้าน้ำหลั่งเยอะ จะใช้วัสดุที่ดูดซับได้ดี แต่ถ้าน้ำหลั่งน้อยมาก แพทย์จะใช้วัสดุปิดแผลที่ไม่ติดแผลมากนัก จากนั้นแพทย์จะพิจารณาพื้นแผล เนื้อตาย ขอบแผล ประเมินภาวะติดเชื้อ โดยจะเลือกวัสดุปิดแผลที่เหมาะกับประเภทของแผลเป็นสำคัญ เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้นและลดการเสียดสีที่ผิวหนัง

- การตัดเนื้อตาย แพทย์จะทำการตัดเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายออกไป เพราะแผลกดทับจะหายได้ต้องไม่มีการติดเชื้อหรือเนื้อเยื่อตาย โดยแพทย์อาจนำส่วนของกล้ามเนื้อ ผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อในร่างกายของผู้ป่วยมาปิดแผลและกระดูกในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากแผลกดทับ และแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะและการดูแลต่างๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม

 

เครื่องมือและเทคโนโลยีดูแลแผลกดทับ

- อุปกรณ์ช่วยลดแรงกดทับ เช่น ฟูกชนิดพิเศษ เตียงลม แผ่นโฟมลดแรงเสียดสีและแรงกดทับ

- TCOM เครื่องประเมินระดับออกซิเจนรอบแผลที่ขาและเท้าในผู้ป่วยที่มีปัญหาหลอดเลือดและแผลเรื้อรัง เพื่อดูระดับการขาดออกซิเจน การประเมินการตอบสนองต่อการรักษาด้วยการศัลยกรรมหลอดเลือดเพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาที่เหมาะสม โดยจะตรวจวัดบริเวณขอบหรือรอบแผล ทำนานครั้งละ 1 – 2 ชั่วโมง

- เครื่องช็อกเวฟ (Radial Shock Wave Therapy) การรักษาด้วยคลื่นเสียงกระแทกความถี่สูงที่สร้างแรงกระแทกที่แผลอย่างเหมาะสม มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการซ่อมแซมเนื้อเยื่อบริเวณแผลให้หายเร็วขึ้น สามารถรักษาแผลเรื้อรังได้ทุกระยะ  

- การบำบัดด้วยออกซิเจนความดันสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy – HBOT) การรักษาโดยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยออกซิเจนบริสุทธิ์ 100% ขณะนอนอยู่ในห้องที่มีความดันภายในมากกว่าความกดดันของบรรยากาศ  (Hyperbaric Chamber)  เพื่อให้เนื้อเยื่อรอบแผลได้รับออกซิเจนในปริมาณที่สูงกว่าการให้ออกซิเจนตามปกติ ช่วยแก้ไขภาวะพร่องออกซิเจน ลดการบวมของเนื้อเยื่อ ส่งเสริมการซ่อมแซมบาดแผลและการสร้างเส้นเลือดใหม่ ช่วยเม็ดเลือดขาวในการกำจัดและทำลายเชื้อโรค

การดูแลรักษาแผลกดทับเป็นเรื่องสำคัญ เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโดยตรง ดังนั้นการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางที่พร้อมด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีในการรักษา ย่อมช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ ลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจอีกครั้ง

 

ข้อมูล : โรงพยาบาลกรุงเทพ