ข่าว

"อนุทิน"ยันเอกสารหลุด"ไฟเซอร์" ของจริง

"อนุทิน"ยันเอกสารหลุด"ไฟเซอร์" ของจริง

05 ก.ค. 2564

"อนุทิน"แจงเอกสารหลุดฉีดวัคซีน"ไฟเซอร์"เข็ม 3ให้บุคลากรการแพทย์เป็นเอกสารจริงจากที่ประชุมคกก.วิชาการแต่เป็นเพียงความเห็นยังไม่มีผลอะไร

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขออกมายอมรับกรณีที่มีเอกสารจากที่ประชุมเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19"ไฟเซอร์"ที่จะเข้ามาในประเทศไทยจากการบริจาคของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยระบุว่า จะมีการนำมาฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อการกระตุ้นเข็มที่ 3 ว่า วัคซีนไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดส เกิดจากการประสานงานระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศเงื่อนไขการตกลงต่าง ๆ อยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ


 

 

ซึ่งต้องแจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นผู้นำมาใช้เพื่อให้เราปฏิบัติตามเงื่อนไขนั้น ๆ เช่น ที่เราได้รับการบริจาคจากประเทศญี่ปุ่นก็ห้ามนำไปขายต่อเบื้องต้นวัคซีนไฟเซอร์ ไม่มีเงื่อนไขแต่เราก็ต้องนำวัคซีนมาฉีดให้เหมาะสม ประเทศไทยมีชาวต่างชาติจำนวนมากเพื่อสร้างความปลอดภัยให้คนในประเทศเราก็พร้อมจะฉีดให้เขาด้วย

นายอนุทิน กล่าวยอมรับว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารภายในจากการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ เราไม่ควรที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์เพราะเป็นเรื่องของวิชาการตราบใดที่ยังไม่ได้มาเป็นขั้นตอนปฏิบัติก็ยังไม่มีผลอะไร

 

การประชุมคณะกรรมการวิชาการก็มีอาจารย์แพทย์ซึ่งแต่ละท่านเสียสละเวลาเข้ามาแม้ไม่ได้เป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงหรือลูกจ้างอะไรแต่ท่านสละตัวเองเข้ามาเพื่อให้ความเห็นของตนเองซึ่งจะมีการบันทึกไว้แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแนวปฏิบัติเพราะหลังจากนั้นต้องมีอีกหลายขั้นตอนที่จะตกลงกันว่าจะปฏิบัติในแนวทางไหน

 

\"อนุทิน\"ยันเอกสารหลุด\"ไฟเซอร์\" ของจริง

 

กรณี"เอกสารหลุด"กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักในรอบวันที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2564 มีการเปิดเผยเอกสารบันทึกการประชุมเฉพาะกิจร่วมระหว่างคณะกรรมการด้านวิชาการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและคณะทํางานวิชาการด้านบริหารจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีนซึ่งเป็นการประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมาที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
 

เนื้อหาช่วงหนึ่งเป็นเรื่องการจะได้รับวัคซีนโควิดไฟเซอร์ จำนวน 1.5 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม 2564 และจะได้รับในไตรมาสที่ 4 รวม 20 ล้านโดส จึงมีการบริหารจัดการวัคซีนมีรายละเอียดว่าควรมุ่งเน้นไปที่บุคคลทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่

 1. บุคคลอายุ 12-18 ปี

 

 2. กลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้วัคซีน ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์

 

 3. ให้บุคลากรด่านหน้ากระตุ้นภูมิคุ้มกัน เป็นวัคซีนเข็มที่ 3

 

ทั้งนี้มติที่ประชุมคณะดังกล่าวสรุปแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปโดยเน้นในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงคือกรุงเทพฯและปริมณฑล
 

อย่างไรก็ดีพบว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าแต่มี 2 ข้อคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วย ระบุว่า"ขอให้กลุ่ม 2 ไม่ควรให้กลุ่ม 3"และ"ในขณะนี้ถ้าเอามาฉีดกลุ่ม 3 แสดงยอมรับว่าซิโนแวคไม่มีผลในการป้องกันแล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น"

 

ก่อนที่สุดท้ายจะมีมติไม่จัดวัคซีนไฟเซอร์ฉีดเข็ม 3 ให้บุคลากรด่านหน้า