ข่าว

 "พอลิสไตรีน" สารตั้งต้น สารก่อมะเร็ง

"พอลิสไตรีน" สารตั้งต้น สารก่อมะเร็ง

05 ก.ค. 2564

"พอลิสไตรีน" สารตั้งต้น ผลิตโฟม สารอันตรายก่อให้เกิดมะเร็ง

5 ก.ค. 2564 จากกรณีเหตุเพลิงไหม้ โรงงาน หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโฟม และเม็ดพลาสติก ตั้งอยู่ ภายในซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ โดยระหว่างเพลิงไหม้มีเสียงระเบิดดังขึ้น เหตุเกิดเมื่อเวลา 03.30 น. ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ได้มีการสั่งอพยพประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตรายจากการสูดดมสารเคมีที่โรงงานนำมาผลิตโฟม

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

"ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว" นายอำเภอบางพลี สั่งอพยพประชาชน รัศมี 5 กม. หวั่นระเบิดใหญ่ 

สำหรับสารเคมี ที่เป็นสารประกอบในการผลิตโฟม จะมีการใช้สารเคมีหลัก อยู่ 2 ส่วน คือ สารตั้งต้นในการผลิตโฟม ฟองน้ำ พลาสติก  เรียกว่า “พอลิสไตรีน” ( Polystyrene, PS ) สารตั้งต้น สไตรีน  พอลิสไตรีน  เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นมาจาก สไตรีนมอนอเมอร์ ซึ่งเป็นสารไฮโดรคาร์บอนที่ได้จากปิโตรเลียม ในการผลิตพอลิสไตรีนยังมีวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมด้วยได้แก่ เบนซีน เอทิลีน และบิวทาไดอีน

 

 

พอลิสไตรีน เป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมพลาสติก คือหลอมเป็นของเหลวได้ โดยที่อุณหภูมิห้องจะอยู่ในสถานะของแข็ง แต่จะหลอมละลายเมื่อทำให้ร้อนและแข็งตัวเมื่อเย็นลง พอลิสไตรีน แข็งที่บริสุทธิ์จะไม่มีสี ใส แต่สามารถทำเป็นสีต่าง ๆได้ และยืดหยุ่นได้จำกัด

 

 

พอลิสไตรีน ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปส่วนใหญ่เป็นชนิดที่เรียกว่า expanded polystyrene (EPS) เป็นชนิดที่ได้จากการผสมพอลิสไตรีนร้อยละ 90-95 กับสารทำให้ขยายตัว  ร้อยละ 5-10 พลาสติกที่เป็นของแข็งถูกทำให้เป็นโฟมโดยการใช้ความร้อน (มักเป็นไอน้ำ) พอลิสไตรีน อีกชนิดหนึ่งคือ Extruded polystyrene (XPS) มีชื่อทางการค้าที่แพร่หลายคือ Styrofoam เป็นชนิดที่มีการเติมอากาศไว้ในช่องว่างตามเนื้อโฟมทำให้มีค่าการนำความร้อนต่ำ ใช้ในงานก่อสร้าง และใช้เป็นฉนวนกันความร้อนในอาคาร และยังมีชนิดที่เป็นแผ่นเรียกว่า Polystyrene Paper Foam (PSP) ใช้เป็นภาชนะบรรจุอาหาร เช่น กล่องหรือถาดใส่อาหาร

 

 

กระบวนการผลิตพอลิสไตรีน  จะมีสารพิษที่ปลดปล่อยออกมาในระหว่างการผลิตพอลิสไตรีนได้แก่  เบนซีน (เป็นสารก่อมะเร็ง)  , สไตรีนมอนอเมอร์ (เป็นสารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็ง)  บิวทาไดอีน (เป็นสารที่สงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็ง) , คาร์บอนเตตระคลอไรด์ ทำให้เกิดมะเร็งในสัตว์ทดลองและสงสัยว่าก่อให้เกิดมะเร็งในคน,  โครเมี่ยม  ออกไซด์ ก่อให้เกิดมะเร็งและการกลายพันธุ์ในสัตว์ทดลอง

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการตรวจพบว่าคนงานที่ทำงานในโรงงานสไตรีนและพอลิสไตรีนมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับการทำงานของปอด ทำลายโครโมโซม และเป็นมะเร็งเพิ่มมากขึ้น