ป้องกัน "โรคหลอดเลือดสมอง" หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของ "โควิด-19"
"โรคหลอดเลือดสมอง" ถือเป็นหนึ่งในโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของ "โควิด-19" ซึ่งเราจะเห็นตามรายงานจากข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ทาง ศบค. ได้รายงานในทุกๆ วัน
"โรคหลอดเลือดสมอง" ถือเป็นหนึ่งในโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของ "โควิด-19" ซึ่งเราจะเห็นตามรายงานจากข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ทาง ศบค. ได้รายงานในทุกๆ วัน ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองราวๆ 15 ล้านคนทั่วโลก และทุก 6 วินาทีมีคนตายด้วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างน้อย 1 คน
"โรคหลอดเลือดสมอง" (stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก
ความผิดปกติของ "หลอดเลือดสมอง" ที่ทำให้สมองขาดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
1.หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (ischemic stroke) เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง พบได้ประมาณ 80% หลอดเลือดสมองอุดตันเกิดได้จากลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นในบริเวณอื่นไหลไปตามกระแสเลือดจนไปอุดตันที่หลอดเลือดสมอง หรืออาจเกิดจากมีลิ่มเลือดก่อตัวในหลอดเลือดสมอง และขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนอุดตันหลอดเลือดสมอง
ส่วนสาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบอาจเกิดจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ มีความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพในการลำเลียงเลือดลดลง
2.หลอดเลือดสมองแตก(hemorrhagic stroke) พบได้ประมาณ 20% ของโรคหลอดเลือดสมอง เกิดจากหลอดเลือดมีความเปราะบางร่วมกับภาวะความดันโลหิตสูง ทำให้บริเวณที่เปราะบางนั้นโป่งพองและแตกออก หรืออาจเกิดจากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่นจากการสะสมของไขมันในหลอดเลือด
ทำให้หลอดเลือดปริแตกได้ง่าย ซึ่งอันตรายมากเนื่องจากทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลันและทำให้เกิดเลือดออกในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็วได้
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง ที่ป้องกันไม่ได้
- อายุ เมื่ออายุมากขึ้น หลอดเลือดก็จะเสื่อมตามไปด้วย โดยผิวชั้นในของหลอดเลือดจะหนาและแข็งขึ้นจากการที่มีไขมันและหินปูนมาเกาะ รูที่เลือดไหลผ่านจะแคบลงเรื่อยๆ
- เพศ พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
- ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดการจับตัวกันของเม็ดเลือดและมีลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าคนปกติ
การรักษา
การรักษาขึ้นกับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองว่าเป็นหลอดเลือดสมองตีบหรือหลอดเลือดสมองแตก โดยจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน
- หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน เป้าหมายของการรักษาคือทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ โดยทางเลือกในการรักษามีหลายวิธี ในบางกรณีแพทย์อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด ซึ่งพบว่าจะได้ผลดีกับผู้ที่มีอาการและอาการแสดงของโรคหลอดเลือดสมองและรีบมาโรงพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง
- หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด เป้าหมายของการรักษาคือการควบคุมปริมาณเลือดที่ออกด้วยการรักษาระดับความดันโลหิต ในกรณีที่เลือดออกมาก แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสมองที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงความดันโลหิต
ส่วน 8 เทคนิคป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและการเกิดซ้ำ
1.เลิกสูบบุหรี่
2.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (150 นาทีต่อสัปดาห์)
3.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ผิดปกติ
4.ลดการรับประทานอาหารรสเค็ม
5.รับประทานผักและผลไม้ทุกวัน
6.เลี่ยงอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว
7.ตรวจวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ
8.ควบคุมระดับไขมัน และน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
ผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองต้องรับประทานยาป้องกันตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอ เพราะโรคหลอดเลือดสมองมีโอกาสเป็นซ้ำ หากขาดการป้องกันควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประธานหอการค้าสุรินทร์ โพสต์ติด"โควิด" ยุ่งแล้ว...ถ่ายรูปคู่"นายกฯ"-"บิ๊กตู่" กักตัว
เช็กด่วน.."ผู้ติดเชื้อโควิด-19วันนี้ "10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด ตจว. พุ่งแซง กทม.
ไม่ลดเลย "โควิดวันนี้" ผู้ป่วยใหม่พุ่งเกิน 6 พัน เสียชีวิตครึ่งร้อย
หลอดเลือดสมองหนึ่งในโรคปัจจัยเสี่ยงต่อความรุนแรงของ "โควิด-19"
ขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : ศูนย์ข้อมูล COVID-19 , สสส. , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์