'หมอธีระ' ชี้ 6 ปัจจัยทำ "โควิด" ระบาดควบคุมไม่ได้ แนะ ศบค.มองภาพความจริง ปรับแผนด่วน
'หมอธีระ' รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ชี้ 6 ปัจจัยทำ "โควิด" ระบาดควบคุมไม่ได้ แนะ ศบค.มองภาพความจริง ปรับแผนด่วน
(6 ก.ค.2564) 'หมอธีระ' รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กชำแหละ 6 ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิด "โควิด" ระบาดในไทยหนักจนคุมสถานการณ์ไม่ได้
สถานการณ์โรค "โควิด-19" ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ประเทศไทยพบจำนวน "ผู้ติดเชื้อวันนี้" รวม 5,420 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อ "โควิดวันนี้" สะสมอยู่ที่ 265,790 ราย (สะสมระลอกใหม่ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2564) หายป่วย 199,597 ราย และเสียชีวิตเพิ่มวันนี้ 57 ราย รวมเสียชีวิตแล้ว 2,333 รายด้วยกัน
ด่วน "โควิดวันนี้" ตัวเลขผู้ป่วยใหม่หลัก 5 พันราย เสียชีวิตเกินครึ่งร้อย
โดย 'หมอธีระ' ระบุถึงสถานการณ์ "โควิด-19" ในบ้านเราได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งหากเราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คงพอวิเคราะห์ได้ว่า การระบาดของไทยที่หนักหนาสาหัสคุมไม่ได้ และทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่องนั้น อาจมาจากปัจจัยหลัก ดังต่อไปนี้
1.ยุทธศาสตร์ นโยบาย และมาตรการด้านการควบคุมป้องกันโรคที่ดำเนินมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอในการจัดการการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. การวางแผนนโยบายวัคซีนและการดำเนินงานแต่ละขั้นตอนมีปัญหา ตั้งแต่การประเมินสถานการณ์ระบาด การเลือกวัคซีน การจัดซื้อจัดหาและการกระจายวัคซีนนั้น ไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดจริงได้ทัน ทั้งระลอก 2 และ 3 ที่รุนแรงและการกลายพันธุ์ของวัคซีน ทำให้เกิดปัญหาทั้งเชิงปริมาณวัคซีนและประสิทธิภาพของวัคซีน
3. ระบบการตรวจคัดกรองโรคไม่เพียงพอ ไม่ครอบคลุมและยากต่อการเข้าถึงบริการ ทำให้ไม่สามารถรองรับความต้องการในยามระบาดหนักได้ สะท้อนถึงปัญหาในการวางแผนนโยบายจัดการโรคระบาดเช่นกัน
4. ทรัพยากรในระบบสาธารณสุขที่ใช้ในการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อนั้นไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถรองรับปริมาณผู้ติดเชื้อยามระบาดหนักได้ เกิดภาวะเตียงล้นในพื้นที่ระบาดหนัก คนรอเตียงจนเสียชีวิตที่บ้าน จนเป็นเหตุให้นำไปสู่การไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากให้ทำ Home Isolation
5. ปัญหาเกี่ยวกับการทำงานด้านวิชาการในคณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือคณะทำงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชงนโยบายและมาตรการด้านการป้องกันควบคุมโรค ดังที่เห็นจากข่าวล่าสุดเกี่ยวกับการประชุมของคณะทำงานในการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีน mRNA ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นศรัทธา และก่อให้เกิดความเคลือบแคลงกระบวนการทำงานทั้งหมดที่ผ่านมาว่าจะเกี่ยวข้องกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องของการระบาด รวมถึงวัคซีนต่างๆ หรือไม่
6. นโยบายอื่นที่ส่งผลต่อความเสี่ยงในการระบาดมากขึ้น เช่น นโยบายเปิดประเทศ และการรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดในประเทศที่ยังรุนแรงและคุมไม่ได้
เหล่านี้คือ ปัจจัยหลักที่ทาง ศบค. ควรนำมาพิจารณาทบทวนและหาทางปรับเปลี่ยน ทั้งเรื่องกลไกสร้างนโยบาย กลไกการขับเคลื่อน และการจัดหาและจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นในระบบ เชื่อว่าหากเรามองภาพจริงและช่วยกันปรับเปลี่ยนแก้ไข ใช้ความรู้ที่ถูกต้องสถานการณ์การระบาดของเราจะดีขึ้นได้ เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
"จุดตรวจโควิดฟรี" ในพื้นที่ กทม. วันนี้ - 31 ก.ค. เช็กเลย ครบจบที่นี่
เช็กเลย "จุดตรวจโควิดฟรี" กทม. 6 ก.ค. มีที่ไหนบ้าง