เปิดใจ "นักรบเปลวเพลิง"ไฟไหม้ "โรงงานพลาสติกกิ่งแก้ว" ยากสุดในชีวิต
"นักรบเปลวเพลิง" ฮีโร่ตัวจริง เปิดใจ การดับไฟ"โรงงานพลาสติกกิ่งแก้ว" นับเป็นงานที่ยากที่สุด ในชีวิตการดับเพลิง 20ปี ข้อมูลล่าช้า เชื้อเพลิงมหาศาล อุปสรรคสำคัญ
เหตุไฟไหม้โรงงานสารเคมี บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด ซอยกิ่งแก้ว ตำบลบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ ส่งผลให้มีบ้านเรือนประชาชนเสียหาย 100 หลังคาเรือน ผู้บาดเจ็บ 40 รายผู้เสียชีวิต 1 ราย ถึงแม้ว่าขณะนี้เพลิงจะสงบลงแล้ว แต่การปะทุของไฟก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง
เหตุการณ์เพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่รุนแรง และอันตราย และในสถานการณ์แบบนี้ หนึ่งในฮีโร่สำคัญ ที่คอยปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชนให้รอดพ้นเปลวเพลิงคงหนีไม่พ้น พนักงานดับเพลิง
"เด็กเก็บสาย" นามแฝงของหนึ่งในฮีโร่ที่เข้าร่วมปฏิบัติการดับไฟโรงงานสารเคมีกิ่งแก้ว เปิดใจว่า จากประสบการณ์การเป็นนักดับเพลิงมา 19 ปี ครั้งนี้เป็นอีกครั้งที่ถือว่ายาก และรุนแรงไม่น้อยไปกว่าเหตุการณ์ไฟไหม้ไทยออยล์ ถือเป็นงานที่โหดที่สุดในชีวิตนักดับเพลิงของเขาก็ว่าได้ เพราะมีความซับซ้อนกว่าเหตุเพลิงไหม้ไทยออยล์ เนื่องจากในครั้งนี้ มีสารไวไฟที่เป็นเชื้อเพลิงจำวนมหาศาล มีถังไซโลขนาดใหญ่ ด้านข้าง มีทั้งตัวถังเก็บสารสไตรีนใต้ดิน จึงทำให้การจัดการกับเปลวเพลิงที่ลุกโหม เป็นไปได้ยาก ไม่สามารถจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าได้ 100%
อีกทั้ง ยังขาดข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับ พื้นที่ต่างๆในโรงงานรวมถึง ขนาดถัง ความแข็งแรงของถัง ชนิดของสารเคมี ความเป็นอันตรายของสารเคมี ซึ่งข้อมูลนี้เป็นข้อมูลที่สำคัญที่จะมาประกอบกันการทำงานของนักดับเพลิง ซึ่งกว่าจะได้ข้อมูลมาช้ามาก
วินาทีแรกที่เข้าไปถึงจุดเกิดเหตุ ในช่วงเวลา 9:00 น สิ่งที่รู้มีเพียงอย่างเดียวคือไฟไหม้โรงงานผลิตพลาสติก เจ้าหน้าที่ไม่ได้รับข้อมูลใดๆจากเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของโรงงาน จึงทำให้นักดับเพลิงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามเหตุเฉพาะหน้า
"ผมรู้แต่ว่ามันเป็นโรงงานผลิตพลาสติกจริง ๆ แต่จริงๆแล้วมันคือสารตั้งต้น ที่จะเอาไปผลิตเป็นพลาสติก โดยช่วงเช้าทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับข้อมูลใด ๆ จากหน่วยงานดูแลความปลอดภัยของโรงงานเลย "
ที่มา เด็กเก็บสาย
ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว การดับเพลิงมีทฤษฎีในการดับไฟประเภทสารเคมีเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ คือข้อมูลต่าง ๆ รายละเอียดต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ทุกคนทำตามทฤษฎีและทำตามหลักการที่ถูกต้อง แต่จะต้องประกอบด้วยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงของพื้นที่นั้นๆ เหตุการณ์นี้จึงยอมรับว่านักดับเพลิงทุกคน ต้องทำงานแบบตาบอดคลำทางพอสมควร ซึ่งไม่รู้เลยว่า การที่เราพยายามใช้โฟมในการที่จะปิดกั้นออกซิเจนเพื่อลดการเกิดมันจะให้ผลยังไง เพราะเราไม่รู้เลยว่าถังที่อยู่ใต้ดิน มันมีขนาดเท่าไหร่ จำนวนเชื้อเพลิงมีปริมาณเท่าไหร่ นี่คืออุปสรรคสำคัญในการปฏิบัติงาน
"ทีมงานเราเป็นหน่วยแรกที่เอาโฟมเข้าไปฉีด ก่อนเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดสูญเสียเจ้าหน้าที่ดับเพลิงไป 1 ราย ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ ที่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจะต้องเก็บไปคิดวิเคราะห์ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับน้ำพอร์ส นักดับเพลิงเรียกมันว่า Flas hBack คือการที่ไฟย้อนกลับ และสารสไตรีนที่ติดไฟน่าจะมีอุณหภูมิต่ำกว่า 1200-1500 องศาเซลเซียส" นับเป็นอีกหนึ่งการสูญเสีย ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
สถานการณ์ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากไฟยังคงลุกโหม และเจ้าหน้าที่ก็ยังคงดำเนินการจำกัดพื้นที่ไฟให้เล็กที่สุดด้วยการฉีดโฟม ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากแรงดันที่เกิดขึ้น เป็นอุปสรรคในการจำกัดวงของไฟ และยังคงมี flash back ตลอดเวลา หากถามว่าในสถานการณ์ตอนนั้น กลัวหรือไม่ ? ก็ต้องยอมรับว่ากลัว แต่ทุกอย่างเป็นหน้าที่ต้องมาก่อน เจ้าหน้าที่ทุกคนจึงจำเป็นต้องสลัดความกลัวทิ้งไปและต่อสู้กับเปลวเพลิงที่ลุกโหมอย่างต่อเนื่อง กว่าเจ้าหน้าที่ในหน้างานจะได้ข้อมูลของโรงงาน เพื่อนำไปทำแผนประกอบการปฏิบัติหน้าที่ใช้เวลานานมาก ซึ่งไม่ทันการทำให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง และเกินที่จะควบคุมได้
กว่า 24 ชั่วโมงกับปฏิบัติการ พิชิตเปลวเพลิงที่โหมกระหน่ำ โรงงานสารเคมี ที่ยังไม่สามารถ ดับได้ 100% ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งบทเรียนบททดสอบและประสบการณ์ ที่ทำให้ เหล่าฮีโร่เหล่านี้ ได้เรียนรู้ และเชื่อได้ว่าการเป็น "นักผจญเพลิง" ของหลายๆคน ไม่ได้เป็นแค่อาชีพ แต่เป็นจิตวิญญาณของพวกเขา ที่พร้อมจะปฏิบัติการช่วยเหลือ และพี่ชิตเปลวไฟ ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน ให้ปลอดภัย และสูญเสียน้อยที่สุด
ที่มา : เด็กเก็บสาย