วัคซีน "mRNA" กับความสัมพันธ์ต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เผยกลุ่มอายุที่มีโอกาสเกิด
"ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร" ระบุถึงวัคซีน "mRNA" กับความสัมพันธ์ต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พร้อมเผยกลุ่มอายุที่มีโอกาสเกิด
วันที่ 8 ก.ค. 2564 ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความระบุถึง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ที่สัมพันธ์กับ mRNA vaccine
โดย ศ.นพ.มานพ ระบุว่า ถึงวันนี้ทุกคนคงยอมรับแล้วว่า mRNA vaccine จาก Pfizer x BioNTech และ Moderna มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ป้องกันการป่วยหรือติดเชื้อ COVID รวมถึงมีข้อมูลการศึกษามากที่สุดในปัจจุบัน
แต่เหรียญมีสองด้าน นอกจากปัญหาการแพ้รุนแรง (anaphylaxis) แล้ว AEFI (adverse event following immunization) ที่คนพูดถึงมากหนีไม่พ้นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (CDC รวมข้อมูลแล้วจัด myocarditis และ pericarditis รวมกันไปเลย)
รายงานจาก ACIP ของ CDC เผยแพร่ใน MMWR ฉบับล่าสุดเมื่อ 2 วันก่อน รวบรวมข้อมูลจาก Vaccine Adverse Event Reporting System (VAERS) ของผู้ที่ได้รับวัคซีน ซึ่งทั้งประเทศได้รับไปแล้ว 296 ล้าน doses (ถึงวันที่ 11 มิถุนายน) เป็นกลุ่มคนอายุ 12-29 ปีรวม 52 ล้าน doses แบ่งเป็นเข็มแรก 30 ล้าน doses และเข็มสอง 22 ล้าน doses
ในข้อมูล VAERS มีผู้ที่เกิด myocarditis ทั้งสิ้น 1,226 ราย อายุเฉลี่ย 26 ปี แต่เนื่องจากการเก็บข้อมูลนี้รวมทุกสิ่งอย่างที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน ไม่ว่าจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนก็ตาม ดังนั้นจะมีผู้ที่เกิด myocarditis ส่วนหนึ่งเกิดจากสาเหตุอื่นทั่วไป
CDC ทำการ review ข้อมูลผู้ที่เป็น myocarditis หลังฉีดวัคซีนทุกรายที่อายุน้อยกว่า 30 ปี และเข้าเกณฑ์วินิจฉัยว่าเป็นแน่นอน 323 ราย มีอายุเฉลี่ย 19 ปี ชาย:หญิง มีสัดส่วน 9:1 เกิดอาการเฉลี่ย 2 วันหลังได้วัคซีน โดยเกือบทุกคนจะมีอาการภายใน 7 วัน อาการไม่รุนแรงและเกือบทั้งหมดหายกลับบ้านได้ด้วยการรักษาตามอาการ หรือกินยาต้านการอักเสบ ไม่มีใครเสียชีวิต
การจำแนกกลุ่มอายุจะพบว่ากลุ่มที่มีโอกาสเกิด myocarditis สูงสุดคือผู้ชาย อายุระหว่าง 12-17 ปี รองลงมาคือ 18-24 ปี โดยพบสูงสุดในกลุ่มนี้คือราว 7 คนใน 1 แสนคน เมื่อเทียบกับประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ/ป่วย/ป่วยหนัก/เสียชีวิตแล้ว ความเสี่ยงต่อการเกิด myocarditis รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นน้อยกว่าประโยชน์ของวัคซีนมาก โดยสรุป ACIP CDC ยังคงแนะนำให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปฉีดวัคซีน โดยยังคงรวบรวมข้อมูล AEFI และผลระยะยาวต่อไป
อ่านเพิ่มเติมที่ cdc.gov
ข้อมูลจาก มานพ พิทักษ์ภากร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทัวร์ลง ศบค.บอกผู้ป่วย "โควิด" รอเตียงน้อยที่สุด 1 วัน ถามกลับแล้วที่ตายคาบ้านรอกี่วัน
แห่คอมเมนต์สนั่น หลังเพจ "กรมอนามัย" โพสต์ถาม พร้อมมั้ยใช้ชีวิตแบบ "ล็อกดาวน์" อีกครั้ง
"หมอแล็บ" ชี้อย่าเพิ่งกังวล "สายพันธุ์แลมบ์ดา" มอง "เดลตา" น่ากลัวกว่าเยอะ
มาอีกหนึ่ง WHO จับตา "โควิด" สายพันธุ์ "แลมบ์ดา" ระบาดแล้วในหลายสิบประเทศ
ด่วน "โควิดวันนี้" ตัวเลขผู้ป่วยใหม่-ผู้เสียชีวิตทุบสถิติสูงสุด