"หมอนิธิ" ชี้ สธ.ไม่มีแผนรองรับ ถ้าตรวจ"Rapid test"แล้วติดโควิด-19 หวั่นจราจล
"หมอนิธิ" ชี้ สธ.ไม่มีแผนรองรับ ถ้าตรวจ"Rapid test"แล้วติดโควิด-19 หวั่นจราจล
เมื่อวันที่ 11 ก.ค.2564 นพ.นิธิ มหานนท์ ผอ.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ และเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nithi Mahanonda ระบุว่า ทัวร์เดิมเพิ่งซาไป ..ไม่รู้ว่าจะมีทัวร์มาอีกรอบไหม?เรื่อง rapid test ชุดตรวจไว ที่ผมแนะนำมาตลอดว่าควรมี แต่ขณะนี้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้แล้วนั้น… ผมกังวลมากกว่า เพราะ สธ.ยังไม่ได้กำหนดนโยบายที่ชัดเจนเป็นขั้นเป็นตอนไว้ว่าในรายที่จะตรวจพบผลเป็นบวก (หรือผลเป็นลบก็ตาม) จะทำอย่างไร ตอนนี้ถ้าไม่มีแนวปฏิบัติ คอขวดในการรอก็จะไปอยู่ที่การรอเตียงแอดมิต แทนที่รอตรวจที่โอพีดี หรืออาจจะทำให้คนตื่นไปตรวจมากขึ้นโดยไม่จำเป็น (เช่นไม่ได้สัมผัสใกล้ชิด หรือฉีดวัคซีนครบแต่สัมผัสวงที่สองหรือสาม หรือไม่มีอาการเลย แต่แค่อยากรู้) กลายเป็นไปแออัดกัน ไปรับเชื้อกัน วันที่ไปตรวจไม่มีเชื้อ วันสองวันต่อมากลายเป็นมี (เพราะตรวจเร็วไป หรือไปรับเชื้อโรคในวันที่ไปตรวจ)
แนวปฏิบัติที่ต้องมีคร่าวๆ คือ
1) ถ้าตรวจได้ผลบวกจาก rapid test ทำไงต่อ ได้ผลลบทำไงต่อ (ในภาวะรุนแรงการระบาดที่ต่างกันแนวทางก็ไม่เหมือนกัน ผู้กำหนดต้องเข้าใจเรื่อง Pretest likelihood)
2) การ ปชส. สอน ปชช.ให้เข้าใจว่า การดูแลสังเกตุอาการที่ต้องมาตรวจ คืออะไร? สัมผัสอย่างใดที่เรียกว่าใกล้ชิด และควรมาตรวจวันไหน ระหว่างยังไม่ถึงเวลาที่ควรมาตรวจ อยู่ที่บ้านควรจะทำอย่างไร)
ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมต้นทุนตรงนี้จะมหาศาล รบ.จะแบกไม่ไหว ไหนจะ ค่าตรวจ จำนวนเตียงที่ต้องเพิ่มขึ้น ทั้งเตียง hospitel รพ. สนาม จนถึงค่าอุปกรณ์เครื่องมือในไอซียู (ใครมีรายได้ตรงนี้กันบ้างไม่แน่ใจ) แต่คนทำงานหนัก คือแพทย์พยาบาลซึ่งมีเท่าเดิม
ตราบใดที่ไม่มีมาตรการ...
1) ลดคนเข้า รพ. ฝึกและสอนวิธีคัดกรอง คนที่ดูแลตัวที่บ้านได้ให้อยู่บ้าน และมีระบบติดตามให้พร้อม
2) ป้องกันคนไม่มีอาการให้กลายเป็นคนมีอาการ (ซึ่งมีวิธีอยู่ อย่าปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูล)
3) ป้องกันคนมีอาการน้อยไม่ให้กลายเป็นมีอาการมาก
4) ลดคนมีอาการมากไม่ให้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ… อย่าแค่ตั้งรับ เราเพิ่มคนไม่ได้ อย่าบอกว่ารอวัคซีน เพราะวัคซีนกว่าจะเห็นผล ต้องรอหลายเดือน