4 แนวปฏิบัติ เด็กติด"โควิด-19"
กรมอนามัย แนะ 4 แนวปฏิบัติ ดูแลเด็กติดเชื้อ"โควิด-19" เด็กเล็กควรหมั่นชวนพูดคุยคลายกังวล จัดให้มีการติดต่อสื่อสารกับครอบครัวสม่ำเสมอ ควบคู่กับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,685 ราย เสียชีวิต 56 ราย และเป็นที่น่าสนใจว่าในการระบาดระลอก 4ในครั้งนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในผู้สูงอายุและเด็กมากขึ้น
อาการของโรคโควิด-19 ในเด็ก สามารถมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่ ไม่มีอาการเลย จนถึงปอดอักเสบรุนแรง หรือเสียชีวิต โดยระยะฟักตัวของโรคประมาณ 14 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการของโรคประมาณ 4-5 วัน หลังสัมผัสโรค ในส่วนของเด็กมักติดเชื้อจากการอยู่ใกล้ชิด ผู้ใหญ่ในบ้านที่ติดเชื้อหรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 ทั้งนี้อาการของ
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ 4 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อและผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้เข้ารับการรักษาโดยเน้นให้จัดอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว แนวทางที่ 2 กรณีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองไม่เป็นผู้ติดเชื้อ ให้เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทล โดยผู้ปกครองควรมีอายุไม่เกิน 60 ปี และไม่มีโรคประจำตัว สามารถเข้าดูแลเด็กในสถานพยาบาลได้ แต่สำหรับโรงพยาบาลสนาม ควรจัดพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเป็นการเฉพาะ โดยแยกจากผู้ติดเชื้ออื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโรคได้
แนวทางที่ 3 กรณีเด็กไม่เป็นผู้ติดเชื้อแต่ผู้ปกครองเป็นผู้ติดเชื้อ ให้ญาติเป็นผู้ดูแล หากไม่มีญาติหรือผู้ดูแลเด็ก ให้ส่งเด็กไปยังสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้ดูแลต่อไป หรืออาจพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นที่ดูแลเด็ก และ แนวทางที่ 4 กรณีที่เกิดการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยให้คณะกรรมการป้องกันโรคจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร อาจพิจารณาใช้พื้นที่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยในชุมชนเป็นโรงพยาบาลสนามเฉพาะกิจ โดยพิจารณาจากความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการบริการจัดการ ตามดุลพินิจของคณะกรรมการป้องกันโรคจังหวัด หรือกรุงเทพมหานคร พิจารณาให้เหมาะสมตามบริบท เพื่อดำเนินการดูแลเด็กต่อไป
การดูแลเด็กติดเชื้อในสถานแยกกักของรัฐ โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม ผู้ดูแลเด็ก ควรชวนเด็กพูดคุยในประเด็นที่เด็กอาจมีคำถามหรือความหวาดกลัว เพื่อเป็นการคลายความกังวล ให้มีการติดต่อระหว่างเด็กกับครอบครัวหรือเพื่อน เป็นประจำสม่ำเสมอผ่านทางออนไลน์ จัดหากิจกรรมที่เด็กชอบและสามารถทำได้ด้วยตนเองที่สอดคล้องกับพัฒนาการเด็ก เช่น งานฝีมือ การต่อจิ๊กซอว์ การเล่านิทาน เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กอย่างต่อเนื่อง มีการสอนให้เด็กไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น หมั่นทำความสะอาดเครื่องเล่น หรือของเล่นด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป ในส่วนของการเตรียมอาหาร เน้นให้เด็กได้กินผัก ผลไม้ 5 สี เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และจัดเตรียมอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายทุกวัน นอนหลับให้เพียงพอ 9-11 ชั่วโมงต่อวัน และฝึกเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่างให้เป็นสุขนิสัยประจำตัว