ข่าว

เปิดปม " พ.ร.ก. ฉุกเฉิน" ห้ามเสนอ"เรื่องจริง"สร้างความหวาดกลัว

เปิดปม " พ.ร.ก. ฉุกเฉิน" ห้ามเสนอ"เรื่องจริง"สร้างความหวาดกลัว

13 ก.ค. 2564

เปิดปม ข้อกำหนดใหม่ตาม "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ที่มีเสียงวิจารณ์ว่า ห้ามนำเสนอเรื่องที่สร้างความหวาดกลัวแม้จะเป็นเรื่่องจริง ด้าน"วิษณุ" ยันความจริงเสนอได้

กรณีเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 เป็นวันแรกของการบังคับใช้ข้อกำหนดนายกรัฐมนตรีที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯฉบับที่ 27 ซึ่งเป็นฉบับที่เพิ่มความเข้มงวดของข้อห้ามต่าง ๆ ท่ามกลางสถานการณ์ที่พบผู้ติดเชื้อโควิดรายวันหลักจำนวน 9,000 คนและระบบสาธารณสุขของประเทศไม่อาจรองรับสถานการณ์ได้

 

มาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนถูกนำมาใช้อีกครั้งพร้อมกับการสั่งปิดตลาด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ในเวลา 20.00 น.
 

ข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่ลงนามประกาศใช้โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังเขียนไว้ในข้อ 11. เป็นข้อจำกัดการแสดงความคิดเห็น ภายใต้สถานการณ์ที่อ่อนไหวของโรคระบาด ดังนี้

"ข้อ 11 มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารอันทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน การเสนอข่าวหรือการทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว

 

หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักรนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548" 
 

การกระทำที่จะเป็นความผิดตามข้อ 11 ต้องมีองค์ประกอบทุกข้อรวมกัน ดังนี้

 

1.การเสนอข่าวหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์หรือสื่ออื่นใด(เข้าใจได้ว่ารวมถึงสื่อออนไลน์)

 

2. ที่มีข้อความอันอาจ

 

2.1 ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ

 

2.2 เจตนาบิดเบือนทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

 

3. การกระทำเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งในราชอาณาจักรไทยไม่จำกัดเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดเท่านั้น
 

การฝ่าฝืนข้อ 11 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท ซึ่งเป็นโทษที่กำหนดไว้ในมาตรา 18 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
 

มีข้อสังเกตว่าการเขียนข้อห้ามในข้อกำหนดฉบับที่ 27 เอาผิดกับข้อความที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวทั้งที่เป็นความจริง
 

ในเรื่องนี้เมื่อมีการนำไปสอบถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มือกฎหมายของรัฐบาล  นายวิษณุ บอกว่า หากเสนอข่าวข้อเท็จจริงไม่ถือว่ามีความผิด

 

อย่างไรก็ตามสำหรับข้อถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่มีข้อสรุปเนื่องจากเป็นการตีความข้อกฎหมายต่างกันแม้ฝ่ายรัฐจะมองว่าเป็นการสกัดการเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนและการปั่นกระแสสร้างความหวาดกลัวในสังคม จนส่งผลกระทบให้การบริหารนโยบายเกี่ยวกับการจัดการโควิด-19และการบริหารวัคซีนมีอุปสรรค

 

แต่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตกับการออกข้อกำหนดดังกล่าวเป็นความพยายามในการปิดปากประชาชนและสื่อ ไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลที่ส่อจะผิดพลาดหลายครั้งและอาจเป็นกรณีที่ทำให้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกมองว่าคุกคามสื่ออีกครั้งหนึ่ง