เอาใจ ขรก. "เบิกค่ารักษาพยาบาล" ติด"โควิด-19" และผลกระทบ "วัคซีนทางเลือก" รักษาตัวที่บ้าน วันละ 1,000 บาท
ข้าราชการมีกำลังใจ กรมบัญชีกลาง ให้"เบิกค่ารักษาพยาบาล" กรณีติด"โควิด19" รักษาตัวที่บ้าน วันละ 1,000 บาท รวมถึงค่ารักษาที่เกิดจากการผิดปกติจากการฉีดวัคซีน
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19ยังคงมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการรักษาผู้ป่วยที่สถานพยาบาลของทางราชการหรือสถานที่อื่นที่สถานพยาบาลได้จัดเตรียมไว้
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า จากกรณีที่กรมการแพทย์ ได้กำหนดแนวทางการให้การรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่บ้าน (Home Isolation) หรือในสถานที่อื่น ๆ (Community Isolation) ระหว่างรอเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน ประกอบกับได้มีการเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีนด้วยนั้น กรมบัญชีกลางจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ อัตรา วิธีการ และเงื่อนไข การเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวเสี่ยงหรือติดโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 3) กรณีได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อและอยู่ระหว่างรอเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ซึ่งแพทย์มีความเห็นให้รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือสถานที่อื่น ๆ (Community Isolation) สามารถเบิกเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าบริการของสถานพยาบาลและการดูแลผู้ป่วยกรณีพักรอการเข้ารักษาตัว ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง วันละไม่เกิน 1,000 บาทไม่เกิน 14 วัน ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ ในการติดตามอาการ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,100 บาท ต่อราย ค่ายา ค่าเอกซเรย์ ค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการ และค่ารักษาพยาบาลอื่น ๆ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด ค่าพาหนะส่งต่อ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 1,000 บาท และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อบนรถพาหนะ ในอัตราเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,700 บาทต่อครั้ง ซึ่งรวมค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ป้องกันบุคคลของเจ้าหน้าที่แล้ว
กรณีมีอาการผิดปกติภายหลังได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และแพทย์สันนิษฐานว่าเกิดภาวะ เกล็ดเลือดต่ำที่กระตุ้นการเกิดหลอดเลือดอุดตันจากภูมิคุ้มกันภายหลังได้รับวัคซีน หากเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน มีสิทธิเบิกค่าตรวจ Heparin-PF 4 antibody (lgG) ELISA assay และค่าตรวจ Heparin induced platelet activation test (HIPA) ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด ค่ายา IVIG (Human normal immunoglobulin, intravenous) ตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด
ทั้งนี้หลักเกณฑ์และอัตราค่ารักษาพยาบาลข้างต้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ Call center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวัน เวลาราชการ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่าหลงเชื่อ "แอบอ้าง"การซื้อขายคิว"ฉีดวัคซีนโควิด-19"