ข่าว

"วัคซีนผสมสูตร" คำถามปนความสับสนของคนไทย ใน "โควิด-19" วันนี้

"วัคซีนผสมสูตร" คำถามปนความสับสนของคนไทย ใน "โควิด-19" วันนี้

14 ก.ค. 2564

เกิดคำถามปนความสับสน กับ "วัคซีนผสมสูตร" ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า แม้ฝ่ายสาธารณสุขกับรัฐบาลออกมายืนยันเดินหน้า แต่ผู้คนในประเทศจะพร้อมรับความเสี่ยงนี้หรือไม่

"นายกรัฐมนตรีไม่มีนโยบายที่จะระงับการใช้ "วัคซีนผสมสูตร" แต่อย่างใด และขอให้ทุกฝ่ายรับฟังความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ในกรณี "วัคซีนผสมสูตร/สลับสูตร" เพื่อนำมาพิจารณาอย่างถี่ถ้วนด้วย"

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาเผยท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในเช้าวันนี้ (14 ก.ค. 2564) ที่เห็นด้วยและให้เดินหน้ากับการใช้ "วัคซีนผสมสูตร" ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า

แม้ตอนนี้จะเกิดเสียงทัดทานจากภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคม อยู่ไม่น้อย

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศยืนยันเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ว่า ไม่สลับฉีดวัคซีนทางเลือก "ซิโนฟาร์ม" (Sinopharm) เพราะเป็นวัคซีนใหม่ที่ใช้ในภาวะฉุกเฉินเท่านั้น

ขณะที่ "โรงพยาบาล" รวมถึง "หน่วยฉีดวัคซีน" ต่าง ๆ ก็มีท่าทีชะลอวัคซีนสลับสูตร เช่น "นนท์พร้อม" มีบางคนไม่ยินยอมถ้าจะให้ฉีดวัคซีน "ซิโนแวค" เป็นเข็มแรกก่อน ถึงจะได้เข็มสองเป็น "แอสตร้าเซนเนก้า"

\"วัคซีนผสมสูตร\" คำถามปนความสับสนของคนไทย ใน \"โควิด-19\" วันนี้

(แฟ้มภาพ : คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติแถลงข่าว)

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2464 "อนุทิน ชาญวีรกูล" รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาแถลงมติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ให้ปรับสูตรฉีดวัคซีนในประเทศใหม่เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ "เดลตา" ที่ "ซิโนแวค" เอาไม่อยู่  โดยใช้สูตรใหม่ เข็มแรกเป็น "ซิโนแวค" เข็มสองเป็น "แอสตร้าเซนเนก้า"

ไม่กี่ชั่วโมงหลัง คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติของไทย ประกาศจะใช้ "วัคซีนสูตร"

\"วัคซีนผสมสูตร\" คำถามปนความสับสนของคนไทย ใน \"โควิด-19\" วันนี้

(Dr.Soumya Swaminathan)

หัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลก (WHO) Dr.Soumya Swaminathan ได้ออกมาแถลงว่า "เรายังไม่มีข้อมูล และหลักฐานเรื่องการฉีดวัคซีนต่างสูตร ขณะนี้มีการศึกษาอยู่ ซึ่งก็ต้องคอยผล อาจเป็นวิธีที่ดีมากก็ได้ แต่ ณ เวลานี้ เรามีแค่ข้อมูลฉีดเข็มแรกเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยไฟเซอร์เท่านั้น"

และว่า "ประชาชนไม่ควรตัดสินใจเองในเรื่องนี้  แต่ควรเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานของรัฐด้านสาธารณสุข บนพื้นฐานของข้อมูลที่มีอยู่ ทั้งในส่วนของภูมิคุ้มกันและความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา"

\"วัคซีนผสมสูตร\" คำถามปนความสับสนของคนไทย ใน \"โควิด-19\" วันนี้

(ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ)

ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแถลงชี้แจงการใช้วัคซีนสลับสูตร ในวันที่ 13 ก.ค. 2564 โดยใจความสำคัญคือ

"ฉีดวัคซีนสลับชนิด ภูมิต้านทานขึ้นสูงในเวลารวดเร็วเพียง 6 สัปดาห์" และว่า จากการบันทึกข้อมูลของ "หมอพร้อม" ไทยมีการฉีดวัคซีนสลับสูตรมาก่อนหน้านี้ถึง 1,200 คน ซึ่งไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรง

กระบวนท่าที่ปรับใหม่เพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ "เดลตา" ด้วยวัคซีนสลับสูตร ซิโนแวค+แอสตร้าเซนเนก้า ตามข้อมูลที่เป็นทางการ ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศใดในโลก ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกที่ใช้วิธีนี้

สำหรับประชาชนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 เข็ม คงต้องรอฟังท่าทีจากรัฐบาลว่า จะให้ วัคซีน บูธเตอร์ โดส (เข็ม 3) กับประชาชน เป็น แอสตร้าเซนเนก้า เช่นเดียวกับที่ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าหรือไม่ 

ส่วนคนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มแรกในเข็มที่สองย่อมมีสิทธิ์เลือกว่า จะสลับสูตร ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติอนุมัติให้ทำได้หรือไม่

เพราะสิทธิ์ในการฉีดวัคซีนเป็นของประชาชน อย่าลืมว่า ประชาชนสามารถเลือกด้วยซ้ำว่า จะฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน ดังนั้นจะสลับสูตรหรือไม่ ประชาชนย่อมมีสิทธิ์เต็มที่ที่จะตัดสินใจได้ตามคำข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้

\"วัคซีนผสมสูตร\" คำถามปนความสับสนของคนไทย ใน \"โควิด-19\" วันนี้

(แฟ้มภาพ : ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 25 มิ.ย. 64) 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐควรทำในเวลานี้ คือ เร่งการนำเข้าวัคซีนแอสตร้าเซนก้า ที่รัฐบาลตกลงทำสัญญากับบริษัทผู้ผลิตให้จัดส่งให้เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ อย่าอ่อนข้อหรือยินยอมโดยไม่ท้วงติง ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดให้เขาจัดส่งวัคซีนเข้ามาให้ได้มากที่สุด

ต้องนึกถึงและตระหนักถึงชีวิตของประชาชนในประเทศเป็นหลัก แล้วก็เร่งอำนวยความสะดวกให้ทุกภาคส่วนที่มีเจตนาดี กำลังพยายามช่วยนำเข้า "วัคซีนทางเลือก" ยี่ห้ออื่น ๆ ที่ประชาชนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง (ไม่ฟรี) นำเข้ามาให้คนไทยได้มากที่สุดและรวดเร็วที่สุด

เพราะตอนนี้ทุกนาทีมีชีวิตของประชาชนคนไทยทุกคนเป็นเดิมพัน จะเสี่ยงสูงหรือเสี่ยงต่ำ ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินของ "ผู้นำ" เพราะนี่คือสถานการณ์ฉุกเฉินที่เร่งด่วนที่สุดแล้ว