"กรมชลฯ"สั่ง "กักน้ำ"ทุกเม็ดหลังทั่วประเทศเขื่อนมีน้ำน้อย วอน "เกษตรกร"ใช้น้ำฝนเป็นหลัก
"กรมชลฯ"สั่ง "กักน้ำ"ทุกเม็ดหลังทั่วประเทศเขื่อนมีน้ำน้อย วอน "เกษตรกร"ใช้น้ำฝนเป็นหลัก
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้สั่งกำชับให้ทุกโครงการชลประทานติดตามสภาพอากาศจากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดภายหลังที่กรมอุตุฯคาดหมายว่าในช่วงวันที่ 14 – 16 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย
ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทะเลจีนใต้ตอนกลาง ทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง
ส่วนในช่วงวันที่ 17 – 20 ก.ค. 64 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและลาวเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง
โดยให้ทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำและน้ำท่าในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควบคุมทั้งปริมาณการกักเก็บและการระบายน้ำในแต่ละช่วงเวลาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายอ่างและเก็บน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด โดยเป็นไปตามเกณฑ์การกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำ (Rule Curve)
“ให้บริหารโดยดูทุกมิติโดยยึดข้อกำชับของนายกรัฐมนตรีเมื่อ 30 พ.ค.64 เป็นแนวปฏิบัติที่ให้ติดตามประกาศกรมอุตุฯและต้องพร้อมช่วยเหลือประชาชนทุกโอกาสทั้งแล้งทั้งท่วม "
อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมชลฯให้เจ้าหน้าที่ทำความเข้าใจกับประชาชน เกษตรกรในการทำการเกษตรเน้นใช้น้ำฝนให้มากโดยเขื่อนจะกักเก็บน้ำให้มากที่สุดเนื่องจากอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำน้อย
ณ วันที่ 14 ก.ค.2564 พบว่ายังสามารถรับน้ำได้กว่า42,400 ล้าน ลบ.ม.แบ่งเป็นภาคเหนือสามารถรับน้ำได้ 17,770 ล้าน ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถรับน้ำได้ 5,540 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลางรับน้ำ 1,470 ล้านลบ.ม.
ตะวันออกรับได้1,490 ล้านลบ.ม. ตะวันตกรับได้12,000 ล้านลบ.ม.และภาคใต้รับได้ 3,940 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีฝนตกแล้วในบางพื้นที่ซึ่งเป็นผลดีต่อภาคการเกษตร
ทั้งนี้ได้กำชับทุกพื้นที่เฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือ กรณีน้ำป่าไหลหลากหรือเกิดอุทกภัย โดยทางกรมชลประทาน ได้มีการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำล้นตลิ่ง ได้กำหนดคน และจัดสรรเครื่องจักรเครื่องมือไว้แล้ว พร้อมดำเนินการในทุกพื้นที่“ ดร.ทวีศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้กรมยังได้วางแนวปฏิบัติสอดคล้องกับการคาดการณ์สถานการณ์ฝนของประเทศที่กรมอุตุฯโดยเฉพาะการคาดการณ์การเกิดพายุประมาณ2-3 ลูกในช่วง ส.ค.-ก.ย.ที่จะผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือ
ทั้งนี้ให้นำข้อห่วงใยของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ห่วงใยประชาชนซึ่งกำชับการบริหารน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และกรณีระบายน้ำต้องระวังพื้นที่ท้ายน้ำและริมตลิ่งด้วย
ขณะเดียวกันก็ต้องสำรองน้ำให้ได้มากที่สุดเพื่อใช้ในปีต่อไปรวมถึงเน้นการทำงานเชิงรุกและประสานกับพื้นที่เพื่อให้ทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด
สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน(14 ก.ค. 64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 33,643 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีน้ำใช้การ 9,713 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19 สามารถรับน้ำได้อีกรวม 42,423 ล้าน ลบ.ม.
โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 7,451 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯรวมกันมีน้ำใช้การ 766 ล้าน ลบ.ม.คิดเป็นร้อยละ 4
ในขณะที่มีการเพาะปลูกข้าวนาปีไปแล้วทั้งประเทศรวม 10.44 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 5.11 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ64 ของแผนฯ