ข่าว

"กมธ.ปราบโกง"จ่อสอบ "พล.อ.อนุพงษ์"  ปม"พักบ้านหลวง"

"กมธ.ปราบโกง"จ่อสอบ "พล.อ.อนุพงษ์" ปม"พักบ้านหลวง"

15 ก.ค. 2564

คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร จ่อสอบ" บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์" ปม"พักบ้านหลวง" หลังจากได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พล.อ.อนุพงษ์​ เข้าพักใน"บ้านหลวง"ซึ่งเข้าข่ายเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลประชุมต่อการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในรัฐบาลปัจจุบัน 3 เรื่องสำคัญ ว่ากรณีการเข้าพักในราชการทหารของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากการรับฟังคำชี้แจงของตัวแทนหน่วยงานทหารได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พล.อ.อนุพงษ์​ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าพักในบ้านหลวงซึ่งเข้าข่ายเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์

 

ดังนั้นในการประชุมนัดหน้ากมธ.ฯจะหารือต่อประเด็นดังกล่าวว่าจะขยายผลการตรวจสอบ พล.อ.อนุพงษ์ ด้วยหรือไม่ หรือจะขอข้อมูลจากส่วนราชการใดก่อนที่จะสรุปเป็นมติว่าจะเดินหน้าต่อไปหรือไม่

นายธีรัจชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับการตรวจสอบ พล.อ.ประวิตร วงษ์ สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ถือครองนาฬิกาหรู เบื้องต้นผู้ที่เชิญมาชี้แจงขอเลื่อนเนื่องจากกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

 

แต่ในข้อมูลเบื้องต้นที่ กมธ. ได้รับ คือการสืบหาต้นตอขอนาฬิการหรูที่ต้องผ่านการนำเข้าและชำระค่าภาษีผ่านทางศุลกากร โดยมีรายละเอียดคือผู้ที่รับว่าเป็นเจ้าของนาฬิกานั้นได้รับมาจากพ่อของเพื่อนและมีค่าภาษี จำนวน 18 ล้านบาท

 

นายธีรัจชัย ยังกล่าวกรณีการตรวจสอบ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่าผิดจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ กมธ.เคยพิจารณาต่อเนื่องมาโดยเชิญอดีตปลัดกรวงการต่างประเทศช่วงปี 59 – 63 และปลัดกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบันมาสอบถามเกี่ยวกับการประสานข้อมูลไปยังออสเตรเลียในการขอคำพิพากษาศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์

 

โดยได้รับการชี้แจงว่า กระทรวงการต่างประเทศเคยสอบถามไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงแคนเบอร์ราและสามารถขอสำเนาคำพิพากษาศาลแขวงด้วยการทำหนังสือไปขอได้เลย

 

ส่วนศาลอุทธรณ์จะต้องมีการกรอกตามแบบฟอร์มคำขอพร้อมกับชี้แจงว่าเคยสอบถามข้อมูลไปยังร.อ.ธรรมนัส แต่ไม่ได้รับคำตอบจึงไม่สามารถดำเนินการได้

 

นอกจากนี้ กมธ.ป.ป.ช.ยังเคยได้รับหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศในปี 40 ที่ส่งคดี ร.อ.ธรรมนัส มายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแสดงว่ากระทรวงการต่างประเทศมีข้อมูล ร.อ.ธรรมนัสอยู่แล้ว โดยป.ป.ส.ได้มาชี้แจงและแนบเอกสารดังกล่าวให้ กมธ.ป.ป.ช. ซึ่งมีเอกสาร 2 ฉบับ แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับบอกว่าไม่มีข้อมูล

 

จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการปฏิบัติหน้าที่กรณีของร.อ.ธรรมนัส กระทรวงการต่างประเทศได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วนหรือไม่ ทางคณะ กมธ.ป.ป.ช. จึงให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังศาลอีกครั้งซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าสามารถทำได้แต่ไม่ได้มีการรับปากว่าจะดำเนินการให้