ห่างไกล"โรคไฟลามทุ่ง" รู้วิธี"ป้องกันตัว"
"โรคไฟลามทุ่ง"โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อ"แบคทีเรีย" ร้ายแรงกว่าที่คิด การรู้วิธี"ป้องกันตัว"จากโรคนี้เป็นเรื่องสำคัญ
"โรคไฟลามทุ่ง"โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อ"แบคทีเรีย"ที่พบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม ติดต่อได้ง่ายโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงผู้ที่มี"ภูมิต้านทานต่ำ"อย่าง"ผู้สูงอายุ"มีโอกาสเป็นได้ง่าย
ทุกคนมี"แบคทีเรีย"ที่"ผิวหนัง"ด้วยกันทั้งนั้นซึ่งปนเปื้อนมาจากสภาพแวดล้อมทั่ว ๆ ไป จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการรักษาความสะอาดของร่างกายในแต่ละบุคคล หากดูแลความสะอาดของร่างกายไม่ดี"แบคทีเรีย"ที่อยู่ตาม"ผิวหนัง"ก็พร้อมที่จะทำร้ายร่างกายของเราได้ตลอดเวลาโดยเฉพาะ"โรคไฟลามทุ่ง"ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนังซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด
ชนิดที่ 1 เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียของชั้นหนังแท้
ชนิดที่ 2 เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียลึกลงไปถึงชั้นไขมันใต้ผิวหนัง
"โรคไฟลามทุ่ง"มักจะพบในผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ผู้ป่วยที่ได้รับยากินสเตียรอยด์ ยากดภูมิ มีประวัติเป็นโรคเบาหวาน ผู้สูงอายุ
"โรคไฟลามทุ่ง" มักเป็นที่ขาโดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาขาบวมน้ำเหลือง เคยผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบและเคยผ่าตัดเส้นเลือดดำที่ขาเพราะการไหลเวียนเลือดและน้ำเหลืองเสียไป
"โรคไฟลามทุ่ง"มีโอกาสเป็นในผู้ที่มีสุขภาพปกติได้เช่นกันโดยมักจะเป็นที่"ใบหน้า" จากสถิติจะพบในผู้ที่มีประวัติทำหัตถการเสริมความงามที่ใบหน้า
วิธีการสังเกตอาการของ"โรคไฟลามทุ่ง"
หากผิวหนังมีลักษณะเป็นผื่นบวมแดง ปวดร้อน ตรงกลางผื่นอาจมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนอง บางรายอาจมีไข้ ปวดเมื่อยร่วมด้วย หากพบอาการเหล่านี้ สันนิษฐานทันทีว่าอาจจะเป็น"โรคไฟลามทุ่ง" ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน
โรคผิวหนังชนิดนี้จำเป็นต้องรีบให้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ผู้ป่วยขณะรักษาตัวต้องนอนพัก ยกแขนขาหรือส่วนที่เป็นโรคให้สูง เจาะระบายหนองในรายที่มีหนอง ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือปลอดเชื้อ หากรักษาล่าช้าจะทำให้แบคทีเรียลุกลามเข้ากระแสเลือด อาจทำให้เสียชีวิตได้หรือรักษาแล้วอาจไม่หายขาด
วิธีการป้องกัน"โรคไฟลามทุ่ง"ด้วยวิธีง่าย ๆ ดังนี้
-อาบน้ำทำความสะอาดใบหน้า และร่างกายอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง
-ถ้าร่างกายสกปรก เช่น เหงื่อออกมาก หมักหมม ลงแช่น้ำสกปรก ตากฝน ต้องรีบอาบน้ำทำความสะอาดทันที
-ถ้าเท้ามีผื่น แผล เส้นเลือดขอด หรือเป็นเบาหวาน ต้องหมั่นตรวจดูเท้าทุกวัน
-อย่าให้สัตว์เลี้ยงเลียที่ผิวหนัง ปาก ตา เพราะแบคทีเรียในน้ำลายสัตว์อาจผ่านเข้าไปติดเชื้อเป็นโรคไฟลามทุ่งได้
-ทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำเพื่อป้องกันผิวแห้งและแตก
-ไม่ควรเกาผิวหนังแรง ๆ รวมไปถึงขูดหรือแกะผิวหนังเมื่อเกิดแผล
-ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือโรคผิวหนังเช่น โรคหลอดเลือดส่วนปลาย(Peripheral Artery Disease: PAD) โรคน้ำกัดเท้า ผิวหนังอักเสบ โรคเบาหวาน ควรรักษาโรคให้หายขาดหรือควบคุมโรคอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ
-เมื่อเกิดความผิดปกติหรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง ควรไปพบแพทย์ เพื่อรักษาให้หายขาด และป้องกันเชื้อกระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายจนเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา
ที่สำคัญหากรักษาล่าช้าจะทำให้แบคทีเรียลุกลามเข้ากระแสเลือด อาจทำให้เสียชีวิตหรือรักษาแล้ว อาจไม่หายขาด