ข่าว

เปิดโภชนาการ "อาหาร" สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย สำคัญต่อร่างกายและสมอง

เปิดโภชนาการ "อาหาร" สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย สำคัญต่อร่างกายและสมอง

18 ก.ค. 2564

เปิดโภชนาการ "อาหาร" ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยของเด็ก สำคัญต่อร่างกายและสมอง

ช่วง 6 เดือนแรก อาหารที่ดีที่สุดของทารก คือ "นมแม่" เพราะมีสารอาหารมากมาย เช่น DHA ช่วยบำรุงสมองและสายตา เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดโอกาสเกิดโรคภูมิแพ้ เพราะในนมถั่วเหลือง (โคลอสตรัม) มีภูมิคุ้มกันสูงกว่านมวัว 3,000 เท่า มีสารช่วยย่อย และช่วยเร่งการเจริญเติบโต 

 

 

อาหารสำหรับเด็กทารก 6 เดือน ได้แก่ ตับ เนื้อสัตว์ ปลาช่อน ปลาน้ำจืด ผักใบเขียว หรือข้าวกล้องบด มันฝรั่งและไข่แดงบด น้ำซุปผัก ไข่ตุ๋น+ผักนิ่ม ๆ ผลไม้สุกจัดนิ่ม ๆ เช่น มะละกอบด, มะม่วงสุกบด, กล้วยน้ำหว้าบด, น้ำส้มคั้นสดไม่มีเมล็ด ไม่ควรปรุงรสใด ๆ เป็นรสหวานธรรมชาติ ไข่แดงควรมีทุกมื้ออาหาร นำไข่แดงที่ต้มสุกแล้วมาบี้ใส่ในข้าวตุ๋น ถ้าคุณแม่กลัวลูกแพ้ไข่ขาว เริ่มให้รับประทานไข่ขาวเมื่ออายุครบ 1 ขวบก็ได้ อาหารค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย 

 

อาหารสำหรับเด็ก 7 เดือน เน้นวัตถุดิบที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวบด ผักต้มนิ่ม ๆ 2-4 อย่าง บดรวมกัน กระตุ้นให้เด็กดื่มน้ำบ่อย ๆ จะได้ถ่ายอุจจาระได้ง่ายขึ้น 

 

อาหารสำหรับเด็ก 6-9 เดือน บางคนมีฟันน้ำนมขึ้นหนึ่งหรือมากกว่านั้น ฟันจะช่วยให้ลูกเคี้ยว และเพลิดเพลินกับอาหารที่มีเนื้อสัมผัสหยาบขึ้น มีการพัฒนาการหยิบจับของ เช่น หยิบอาหารกินเอง 

 

อาหารสำหรับเด็ก 8-9 เดือน อาหารจำพวกแป้งที่เป็นมื้อเล็ก ๆ วันละ 2 มื้อ เช่น ข้าวสวยนิ่ม ๆ ขนมปังแผ่น มันฝรั่ง พืชผัก ผลไม้ คละสีสัน มีความหยาบ ละเอียด มีกลิ่นรสหลากหลาย เช่น ผัก ผลไม้ ถือรับประทานเองได้ เช่น แตงกวา แครอทต้ม อาหารโปรตีนสูงแต่นุ่มบดง่าย ได้แก่ ไข่แดง ตับไก่ เต้าหู้อ่อน หรือปลา หมุนเวียนกันไป ปริมาณอาหารที่เหมาะสมใน 1 มื้อ ของเด็กคือ ข้าวสวย 5 ช้อน เนื้อสัตว์ ไข่ 2 ช้อน ผักนิ่ม ๆ 2 ช้อน ผลไม้ 3 ชิ้นพอดีคำ น้ำมันพืช 1 ช้อนชา 

 

อาหารสำหรับเด็กวัย 10-12 เดือน เด็กสามารถกินอาหารหยาบได้ อาหารควรเปลี่ยนจากบดหรือสับ มาเป็นหั่นชิ้นเล็กแทน เช่น มะกะโรนีต้ม ข้าวต้มหรือเนื้อปลาสับหยาบ กินอาหาร 3 มื้อ 

 

โภชนาการเด็ก 1-3 ปี เด็กช่วงนี้กำลังหัดเดิน ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยทารกสู่วัยเด็กเล็ก ลูกจะสนุกกับการเดินรอบ ๆ ค้นหารสิ่งใหม่ ๆ การจัดอาหาร ต้องอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ วันละ 4-6 มื้อ (รวมมื้อว่าง) เน้นโปรตีน เพราะมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย และได้รับพลังงานที่เพียงพอ วันละ 1,000 Kcal./วัน รวมให้นมแม่ด้วย พลังงานส่วนใหญ่มาจากข้าวแป้ง-ธัญพืช น้ำตาล ไขมัน และเนื้อสัตว์ 

 

-หมวดข้าวแป้ง รับประทานมื้อละ 1 ทัพพี เน้นข้าวกล้อง หรือข้าวซ้อมมื้อ เพราะมีแร่ธาตุและวิตามินใยอาหารมากกว่าข้าวขาวปกติ 

 

-หมวดเนื้อสัตว์ ควรรับประทานเป็น ไข่ นม เนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น เนื้อหมู ปลา ไก่ ถั่วต้มเปื่อย หรือเต้าหู้ โปรตีนช่วยในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และการเจริญเติบโต ควรได้รับ 1.4 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และควรได้รับธาตุเหล็กที่เพียงพอ เด็กควรได้กินไข่ 1 ฟองทุกวัน และดื่มนมทุกวัน เพื่อป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง 

 

 

-หมวดไขมัน ไขมันนอกจากให้พลังงานแล้วยังช่วยในการดูดซึมวิตามินบางชนิด เช่น วิตามิน A D E K เด็กได้รับน้ำมันชนิดดีต่อสุขภาพ 3 ช้อนชาต่อวัน 

 

-หมวดผัก ผักอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ควรให้เด็กรับประทานผักหลากสีสัน ควรรับประทานผักมื้อละครึ่งทัพพี เป็นผักสีเข้ม เช่น เขียวเข้ม ส้มเข้ม แดงเข้ม เหลืองเข้ม เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการรอบด้าน สมวัย 

 

-หมวดผลไม้ มีวิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร ควรรับประทานผลไม้สด มากกว่าผลไม้แปรรูป หรือน้ำผลไม้เพราะบางครั้งมีรสหวานมากเกินไป เฉลี่ย 1 วัน เด็กควรได้รับประทานผลไม้ 3 ส่วน 

 

-หมวดนม ควรส่งเสริมให้เด็กดื่มนมทุกวันเพื่อให้ได้รับแคลเซียมเพียงพอ เสริมสร้างมวลกระดูก เด็กควรดื่มนมจืดวันละ 2-3 แก้ว 

 

ปริมาณอาหารที่เพียงพอ สำหรับเด็ก 4-6 ปี 

 

-กลุ่มข้าวแป้ง วันละ 5 ทัพพี

-กลุ่มผัก วันละ 3 ทัพพี 

-กลุ่มผลไม้ วันละ 3 ส่วน 

-กลุ่มนม วันละ 2-3 แก้ว (1 แก้ว ปริมาณ 240 มิลลิลิตร) 

-กลุ่มเนื้อสัตว์ วันละ 4 ช้อนโต๊ะ (กรณีเด็กดื่มนมไม่ถึง 2-3 แก้วต่อวัน แล้วต้องเพิ่มเนื้อ สัตว์ในอาหารขึ้นเล็กน้อย) 

-กลุ่มไขมัน น้ำมันวันละ 5 ช้อนชา (ควรเป็นไขมันดี) 

 

ส่วนน้ำตาล, เกลือ รับประทานได้เล็กน้อย

 

การจัดอาหารสำหรับเด็กสามารถยืดหยุ่นให้ลูกได้ บางมื้อลูกอาจรับประทานได้มาก บางมื้อรับประทานได้น้อย พ่อแม่ไม่ควรเครียดจนเกินไป และควรค้นหาสิ่งที่ลูกชอบ อย่างไรก็ตามการจัดอาหารต้องมีโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 เพราะมีในอาหารเท่านั้น ร่างกายสร้างเองไม่ได้ พบมากในปลาและเนื้อสัตว์ เน้นปลาทะเล ไขมันมีความสำคัญต่อระบบสมอง ควรเลือกไขมันที่ดีต่อสุขภาพ 

 

ทั้งนี้การที่เด็กได้รับโภชนาการที่ดีเพียงพอ สามารถดูได้จากส่วนสูง น้ำหนักที่สมดุล อยู่ในระดับปกติของกราฟวัดการเจริญเติบโต มีความร่าเริง สดใส ไม่เจ็บป่วยบ่อย เช่น เป็นหวัด ท้องเสีย 

 

ข้อมูล vibhavadi