เช็กแบบไหนเรียก "ขาโก่ง" ข้อกังวลของคุณผู้หญิง
เช็กแบบไหนเรียก "ขาโก่ง" ข้อกังวลของคุณผู้หญิง ไม่เฉพาะแค่ขาสวย แต่ส่งผลกระทบต่อข้อเข่าด้วย
ผู้หญิงหลายคน นอกจากอยากมีรูปร่างที่ดีแล้ว คงหนีไม่พ้นอยากมีขาที่เรียวสวย แต่ถ้าเจอภาวะ "ขาโก่ง" แล้วล่ะก็ ทั้งกระโปรงสั้น หรือ กางเกงขาสั้น คงต้องพับเก็บเข้าตู้กันไปเลย แล้ว"ขาโก่ง" เกิดจากอะไร แก้ไขได้หรือไม่ มาไขคำตอบกัน
ขาโก่ง (Bowed legs) เป็นภาวะผิดปกติของรูปขา ที่ทางการแพทย์เรียกว่า Genu Varum เป็นสภาพเข่าที่โค้งออกจากเส้นแนวกระดูกต้นขา และขางอชี้ออกด้านนอก โดยสาเหตุของการเกิดขาโก่งก็มีอยู่หลายปัจจัย
1. พันธุกรรม
2. ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
3. โรคความผิดปกติของกระดูก
4. การนั่ง หรือเดินในท่าที่ไม่เหมาะสมจนเป็นนิสัย เช่น ชอบนั่งแบะขา หรือติดนิสัยเดินเอาปลายเท้าชี้ออกด้านนอก หรือติดนิสัยยืนขาโก่ง เป็นต้น
5. โรคกระดูกอ่อน จากภาวะขาดสารอาหารในการสร้างกระดูก เช่น แคลเซียม ฟอสเฟต วิตามินดี ทำให้กระดูกอ่อนบางมีการโค้งงอของกระดูกได้
6. การบาดเจ็บของกระดูกอ่อนด้านในของกระดูกต้นขาด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ทำให้การปิดของกระดูกเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้แนวกระดูกผิดไป
7. การเสื่อมของกระดูกและข้อของร่างกาย โดยเฉพาะตำแหน่งข้อเข่า จนทำให้เกิดการผิดรูปของข้อเข่า กลายเป็นขาโก่งได้
วิธีเช็กขาโก่งหรือไม่
1. ยืนตรง เท้าชิด ให้ตาตุ่มทั้งสองข้างแตะกัน อยู่หน้ากระจกเต็มตัว หรือถ้าไม่มีกระจก ให้ถ่ายรูปท่ายืนตรงของตัวเองไว้
2. หลังจากได้รูปยืนตรงมาแล้ว ให้ลองลากเส้นตรงจากด้านในหัวเข่ายาวลงมาถึงตาตุ่ม
3. หากสามารถลากเส้นตรงได้โดยไม่สัมผัสขาด้านใดด้านหนึ่งเลย จะถือว่าขาตรงปกติ ไม่โก่ง แต่หากเส้นตรงที่ลาก สัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของขา จะถือว่ามีภาวะขาโก่ง หรือสามารถเช็กง่าย ๆ จากสายตาของตัวเองก็ได้ว่า ถ้ายืนตรง ตาตุ่มชิดกัน แล้วมีช่องว่างระหว่างขา หรือหัวเข่าของตัวเองหรือไม่ หากมี ก็แสดงว่าขาโก่ง
แต่สำหรับในเด็ก จะสังเกตได้ว่า มีภาวะขาโก่งก็เมื่ออายุ 2-7 ขวบ หากรูปทรงขายังโก่ง คือเข่าโค้งออกซึ่งเส้นแนวกระดูกต้นขา และขางอชี้ออกด้านนอกอย่างเห็นได้ชัด ก็ถือว่ามีภาวะขาโก่งตั้งแต่เด็กแล้ว
ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่
โดยส่วนใหญ่ ขาโก่งไม่ใช่ปัญหาสุขภาพที่รุนแรง เพียงแต่อาจส่งผลเสียด้านบุคลิกภาพเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม การมีกระดูกผิดรูปทรงอย่างที่ควรจะเป็น ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วย ดังนี้
- สะโพกแบะออก จากการที่กล้ามเนื้อก้นหดตัว และกล้ามเนื้อหลังขาอ่อนแอ
- กระดูกหน้าแข้งหมุนแบะออก จากการที่กล้ามเนื้อหน้าแข้งหดเกร็ง กล้ามเนื้อน่องอ่อนแอ
- เอ็นของข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้าหย่อนยาน
- ข้อเข่าอักเสบเรื้อรัง จากการที่เอ็นไขว้และแผ่นกระดูกอ่อนของข้อบาดเจ็บซ้ำ ๆ อันเนื่องมาจากการออกกำลังกายอย่างการวิ่ง หรือปั่นจักรยาน
- ข้อเข่าเสื่อม เนื่องจากการรับน้ำหนักตัวของร่างกายคนขาโก่งจะไม่กระจายออก แต่จะกระจุกตัวอยู่ด้านในของเข่าทั้งสองข้าง และหากได้รับแรงกระเทือนที่ข้อเข่าซ้ำ ๆ บวกกับภาวะกล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแอลง ก็จะส่งผลให้กระดูกอ่อนที่ข้อเข่ารับแรงกระเทือนมากขึ้น จนเกิดการสึกหรอ และเมื่อสึกหรอมาก ๆ เข้า ข้อเข่าก็จะเอียง ทำให้ขาโก่งเพิ่มขึ้น หรือลามมาเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมในที่สุด
ทั้งนี้ การพิจารณาว่าภาวะขาโก่งที่เราเป็นอยู่ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากแค่ไหน ก็ควรไปตรวจร่างกายกับแพทย์ดูก่อน เพราะหากขาโก่งไม่ได้ส่งผลในเรื่องสุขภาพ ไม่มีอาการเจ็บป่วย หรือมีภาวะของโรคจากภาวะขาโก่ง ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เว้นแต่ว่าอยากปรับบุคลิกภาพให้ดีขึ้น ก็เข้ารับการรักษาได้
ที่มา : โรงพยาบาลพญาไท