ข่าว

ทำอย่างไร "เด็กติดเกม" หัวร้อน ก้าวร้าว หงุดหงิดอย่างรุนแรงถึงขั้นอาละวาด

ทำอย่างไร "เด็กติดเกม" หัวร้อน ก้าวร้าว หงุดหงิดอย่างรุนแรงถึงขั้นอาละวาด

19 ก.ค. 2564

การเล่นเกมอาจทำให้เด็กสนุก มีความสุข รู้สึกผ่อนคลาย แต่ถ้าได้เล่นทุกวันอาจทำให้ "เด็กติดเกม" จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการเรียนรู้ของเด็กได้

โลกยุคดิจิทัลก็ยังหนีไม่พ้นปัญหา "เด็กติดเกม" โดยเฉพาะปัจจุบันที่โทรศัพท์มือถือเข้ามามีบทบาทจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว ทั้งนี้ การเล่นเกมอาจทำให้เด็กสนุก มีความสุข รู้สึกผ่อนคลาย แต่ถ้าได้เล่นทุกวันอาจทำให้เด็กติดเกมจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต และการเรียนรู้ของเด็กได้ และถ้าเด็กถูกบังคับให้เลิกเล่นเกมหรือหยุดเสพสื่อ อาจทำให้เกิดการต่อต้าน ไม่พอใจ หรือทำให้หงุดหงิดอย่างรุนแรงถึงขั้นอาละวาด ก้าวร้าว และมีปัญหาด้านพฤติกรรม

ปัจจัยที่ทำให้เด็กติดเกม

  • การเลี้ยงดู

เราอาจมักพบเด็กติดเกมในครอบครัวที่มีภารกิจและหน้าที่การงานเยอะ ไม่ค่อยมีเวลากับลูกเท่าที่ควร ขาดตกบกพร่องด้านการฝึกวินัย ขาดการฝึกให้เคารพกฎ กติกา เมื่อพ่อแม่มีเวลาเมื่อใด อาจตามใจเด็ก ๆ ให้ทำในสิ่งต่าง ๆ เพราะอยากทดแทนเวลาให้กับลูก หรือบางครั้งพ่อแม่ก็ใจอ่อนไม่ลงโทษเมื่อเด็กกระทำผิด หรือการขาดเวลาคุณภาพที่สมาชิกในครอบครัวจะมีกิจกรรมร่วมกัน นั่นอาจสร้างความรู้สึกเหงาและเบื่อให้เด็ก เด็กจึงหันไปหากิจกรรมอื่น ๆ ทำเพื่อให้สร้างความสุขและความเพลิดเพลินให้ตัวเอง ซึ่งคงไม่พ้นการเล่นเกม

 

 

  • สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

สังคมวัตถุนิยมยุคนี้มีเครื่องมือสร้างความสนุกตื่นเต้นให้เด็กมากมาย ขาดสถานที่ที่จะให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวอย่างเพลิดเพลินและปลอดภัย หรือปลดปล่อยความเครียดจากการเรียนหนังสือหรือจากการใช้ชีวิตประจำวัน จึงทำให้เด็กหันไปใช้การเล่นเกมเป็นทางออก

  • ปัจจัยของตัวเด็กเอง

เด็กบางคนมีความเสี่ยงต่อการติดเกมมากกว่าเด็กคนอื่น ๆ อาทิ เด็กสมาธิสั้น (ADHD) เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ รวมถึงเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า เด็กที่มีปัญหาจากโรงเรียน เป็นต้น

  • การรับมือเด็กติดเกม

1. หากในบ้านยังไม่มีกฎหรือกติกาการเล่นเกม จำเป็นที่จะต้องพูดคุยกับเด็กและให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมในการวางกติกากำหนดเวลาการเล่น

2. ให้เวลากับเด็กมากขึ้น รู้จักพาเด็กออกไปนอกบ้านเพื่อไปทำกิจกรรมที่เด็กชอบ เพื่อไม่ให้พวกเขารู้สึกเหงาหรือเบื่อ

3. หลีกเลี่ยงการดุ บ่น ตำหนิ หรือใช้อารมณ์และถ้อยคำรุนแรง ลองเปลี่ยนจากการดุการบ่น เป็นการแสดงออกถึงความเห็นใจ

 

4. ผู้ปกครองควรร่วมกันแก้ปัญหา และหาทางออกร่วมกัน กลุ่มพ่อแม่ที่ลูกติดเกมเหมือนกัน อาจต้องทำความรู้จักกันมากขึ้น โดยอาจจัดกิจกรรมหลังเลิกเรียน กิจกรรมวันหยุด เช่น ไปเที่ยวสวนสัตว์ สวนสนุก หรือกิจกรรมท่องเที่ยวนอกสถานที่หรือต่างจังหวัด ให้เด็ก ๆ ได้มีกิจกรรมทำ

5. สำหรับเด็กที่ติดเกมมากจริง ๆ จนมีพฤติกรรมก้าวร้าว แสดงการต่อต้านที่รุนแรง พ่อแม่อาจลองเล่นเกมกับเด็กดู หากพบว่าเป็นเกมที่รุนแรงไม่เหมาะสม ให้ลองหาทางเบี่ยงเบนความสนใจให้เด็กไปลองเล่นเกมอื่นที่คิดว่าดีและได้ประโยชน์กว่า ระหว่างเล่นเกมหรือหลังเล่นเกมนั้นจบ ให้นั่งคุยกับเด็กโดยดึงส่วนดีของเกมมาคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเป็นการสอนไปในตัว เมื่อรู้สึกว่าเด็กเริ่มดีขึ้น ให้พ่อแม่หาทางดึงเด็กให้มาสนใจในกิจกรรมอื่น โดยอาจเริ่มให้ทำบ้างนิดหน่อย และทำบ่อย ๆ เพื่อให้เกิดความเคยชิน

หากทำทุกทางแล้วไม่สำเร็จ พ่อแม่ควรพาเด็กมาพบจิตแพทย์ เนื่องจากเด็กอาจจะป่วยและมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เพื่อจะได้วินิจฉัย วางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องต่อไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง