ข่าว

"ประธานมูลนิธิรณสิทธิ์"จี้สะสาง"คดีวิคตอเรียฯ"ถาม "อสส."ยังสั่งฟ้อง"เสี่ยกำพล"หรือไม่

"ประธานมูลนิธิรณสิทธิ์"จี้สะสาง"คดีวิคตอเรียฯ"ถาม "อสส."ยังสั่งฟ้อง"เสี่ยกำพล"หรือไม่

20 ก.ค. 2564

ประธานมูลนิธิรณสิทธิ์"รณสิทธิ์ พฤกษยาชีวะ"ยื่นหนังสือ 4 ฉบับ จี้ถาม" อสส." ยังสั่งฟ้อง "เสี่ยกำพล" หรือไม่ ชี้ทั้งหมดเป็นกระบวนการเป่าคดีโดยวิธีผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรมหรือไม่

วันนี้(20 กรกฎาคม 2564)นายรณสิทธิ์ พฤกษยาชีวะ ประธานมูลนิธิรณสิทธิ์เพื่อช่วยเหลือเหยื่อค้ามนุษย์ เด็กและสตรี เปิดเผยว่าได้ยื่นหนังสือ 4 ฉบับถึงนายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด นายพชร ยุติธรรมดำรง ประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน ว่าที่อัยการสูงสุด และพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.

 

ขอให้สั่งให้มีการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคคีสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครท และการร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาคนสำคัญคือ เสี่ยกำพล วิระเทพสุภรณ์ เจ้าของสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรียซีเครทที่ศาลอุทธรณ์ พิพากษาว่า เป็นสถานบริการค้ามนุษย์ ทั้งตัดสินจำคุกจำเลยสถานหนักทุกคน

 

นายรณสิทธิ์ เปิดเผยว่า หนังสือที่ยื่นถึงประธาน ก.อ.ให้เหตุผลว่าในฐานะเคยร่วมสืบสวนและร่วมกับเจ้าพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ดำเนินการตรวจสอบสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรียชีเครท

 

ซึ่งนายรณสิทธิ์ เป็นผู้ล่อซื้อบริการนำมาสู่การบูรณาการของพนักงานเจ้าหน้าที่ ทหาร ตำรวจ ดีเอสไอ ฝ่ายปกครอง บุกทลายสถานบริการแห่งนี้เมื่อต้นปี 2561 และช่วยเหลือเหยื่อที่หลอกมาค้าประเวณีทั้งชาวไทย ชาวลาว และเมียนมาและจับกุมผู้ต้องหาได้หลายราย

 

โดยทางการสอบสวนและเส้นทางการเงินพบว่าเจ้าของสถานบริการอาบอบนวดวิคตอเรียชีเครทที่แท้จริง คือ นายกำพล วิระเทพสุกรณ์ นางนิภา วิระเทพสุภรณ์ และนายธนพล วิระเทพสุภรณ์

 

ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนและสั่งฟ้อง ออกหมายจับบุคคลทั้งสามและส่งสำนวนต่อพนักงานอัยการ และมีคำสั่งฟ้องคดีบุคคลทั้งสาม ในฐานค้าประเวณี ค้ามนุษย์ทั้งในและนอกราชอาณาจักร แต่บุคคลทั้ง 3 หลบหนีหมายจับ

 

ต่อมาทั้ง 3 คน คือ นายกำพล นางนิภา และนายธนพล ได้ร้องขอความเป็นธรรมในช่วงประมาณเดือนสิงหาคม 2562 ต่อสำนักงานอัยการสูงสุดและนายรณสิทธิ์ ทราบต่อมาภายหลังว่า อัยการสูงสุดหรือตัวแทนได้มีคำสั่งกลับคำสั่งเดิม จากสั่งฟ้องคดีเป็นสั่งไม่ฟ้องนางนิภา และนายธนพล

 

ในช่วงเวลานั้นเองนายรณสิทธิ์ พร้อมกลุ่มพิทักษ์สิทธิเด็กและสตรี องค์กรและมูลนิธิที่ทำงานค้านสิทธิสตรีได้มีหนังสือขอสอบถามว่า เหตุใดอัยการพิเศษฝ่ายคดีค้ามนุษย์ผู้รับผิดชอบในคดีนี้จึงสั่งไม่ฟ้องนางนิภาและนายธนพล ในส่วนนี้โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดเคยแถลงว่ากรณีของนายกำพล ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ


นายรณสิทธิ์ บอกในหนังสือ ว่าในฐานะประธานคณะกรรมการอัยการ มีนโยบายอำนวยความเป็นธรรมและต้องการกำจัดขยะใต้พรมในสำนวนการสอบสวนทางวินัยของพนักงานอัยการ จึงขอให้ท่านได้โปรดมีคำสั่งให้มีการตรวจสอบกรณีการสั่งไม่ฟ้องนางนิภาและนายธนพลและให้ตรวจสอบกรณีการมีคำสั่งตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของนายกำพล ว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร

 

เพื่อจะได้ขจัดข้อสงสัยและความเคลือบแคลงของประชาชนและสังคมที่กังวลว่า อาจมีการกระทำการโดยมิชอบในการสั่งไม่ฟ้องคดีนางนิภาและนายธนพล รวมถึงการส่งหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของนายกำพล อีกด้วย เนื่องจากมีลักษณะการสั่งคดีมีรูปแบบเดียวกันกับคดีนายบอส วรยุทธ อยู่วิทยา จากเดิมที่เคยสั่งฟ้องคดีต่อมาผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม แล้วอัยการกลับคำสั่งเป็นไม่ฟ้องคดี