แนะเคล็ดลับทำ Dropship ให้อยู่ยาว ๆ ไม่ขาดทุน
Dropship คืออะไร แล้วมีเคล็ดลับการทำตลาดอย่างไรไม่ให้ขาดทุน ไปศึกษากัน
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แบนนี้ หลายคนเจอภาวะตกงาน และ หลายคนต้อง work form home แถมยังไม่รู้อีกว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร การทำ Dropship จึงเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในการค้าขายออนไลน์ แล้ว Dropship คืออะไร มีคำอธิบายง่าย ๆ ว่า Dropship คือ การนำสินค้าแบรนด์อื่นมาขายนั่นเอง ซึ่งวิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องเสียเงินสต็อคสินค้า ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายเรื่องแพ็กของและจัดส่ง ฟังดูเหมือนหาเงินเข้ากระเป๋าได้ง่าย ๆ แต่บางรายไม่เข้าใจระบบ ก็ขาดทุนย่อยยับไปก็มี "คมชัดลึกออนไลน์" รวบรวมคล็ดลับที่น่าสนใจให้กับผู้ที่ต้องการสร้างรายได้จาก Dropship กัน
1. เรียนรู้ก่อนลงตลาด
ก่อนตัดสินใจทำ Dropship สิ่งแรกที่ต้องทำคือเรียนรู้การแข่งขันของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น วางขายที่ไหน เว็บไหนบ้าง โซเชียลมีเดียประเภทใดบ้าง ราคาเมื่อเทียบกับคู่แข่ง คอมเมนต์ หรือรีวิวจากผู้ซื้อ โอกาสในการขายสูงพอ และคุ้มค่าเหนื่อยหรือเปล่า ถ้าขั้นตอนเริ่มต้นดี ก็ตีคู่แข่งได้แล้ว เพราะหากเลือกสินค้าที่ขายไม่ดี ต่อให้ทำตลาดดียังไงก็ขายได้ยาก เช่น ราคาแพง แต่คุณภาพด้อยกว่าแบรนด์อื่นในตลาด ไม่รับผิดชอบสินค้า หรือ ส่งช้า ฯลฯ
2. ศึกษาคู่แข่งในระยะยาว
ในความเป็นจริงแล้ว ทุกธุรกิจ ควรเข้าใจและทำการศึกษาคู่แข่ง ซึ่งการทำ Dropship เอง ก็ต้องให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาคู่แข่งไม่แพ้กันเลยทีเดียว เพราะสิ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์หนึ่ง แตกต่างจากอีกผลิตภัณฑ์ เป็นเพราะ "การตลาด" ดังนั้น ถ้าเราขายผลิตภัณฑ์ A แล้วมีคู่แข่งมาขายผลิตภัณฑ์ A เหมือนกัน เราจำเป็นต้องศึกษาวิธีขายและแนวทางการตลาด เพื่อก้าวให้เหนือกว่า
3. ผลิตไหวแน่หรือเปล่า
อีกประเด็นที่สำคัญก็คือ แบรนด์ที่เราจะทำธุรกิจ Dropship มีการบริหารจัดการที่ดี หรือมีสต็อคสินค้าเพียงพอหรือไม่ เพราะในกรณีที่มี Dropship หลาย ๆ คน เขาสามารถผลิตได้ทันตามความต้องการที่จะขายหรือเปล่า ประเด็นนี้ลองมองในแง่ Worst Case กัน ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเรายิงโฆษณาผ่าน Facebook ลงทุนจากหลักร้อย ซึ่งช่วงแรกก็ขายดี ส่งของทัน จึงขยับค่าโฆษณาเป็นวันละ 1,000 บาท สุดท้าย แบรนด์ที่เราร่วมธุรกิจด้วยบอกว่าผลิตสินค้าไม่ทัน เพราะต้องส่งสินค้าให้ Dropship รายอื่นด้วย หรือ ขาดสภาพคล่องเพราะพิษเศรษฐกิจ จนอาจทำให้เราขาดทุน เสียโอกาสขาย และเสียลูกค้าไปในที่สุด
4. แอบทดสอบแบรนด์นั้นๆ ก่อน
ถ้าท้ายที่สุดเราตัดสินใจจะทำ Dropship กับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจริง ๆ อย่าลืมลองสั่งสินค้า (ที่ราคาถูกที่สุดก็ได้) เพื่อตรวจสอบแนวทาง ความถูกต้อง คุณภาพสินค้า และระยะเวลาจัดส่ง จากนั้น จดบันทึกข้อคิดเห็น หรือสิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาเอาไว้ เพื่อใช้เป็น List ให้ช่วยติดตามกระบวนการต่าง ๆ ให้กับลูกค้าได้ในอนาคต วิธีนี้จะช่วยแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า เราใส่ใจในการให้บริการ ไม่ใช่หวังแค่เงินส่วนต่างที่เรียกว่า"กำไร" เพียงอย่างเดียว
5. อย่าเพิ่งรีบออกตัวแรง
เมื่อเริ่ม Dropship จริง ๆ แล้ว อย่าพึ่งรีบลงทุนด้านการตลาด หรือการประชาสัมพันธ์ (ที่ต้องเสียเงิน) อะไรมากนัก ทดสอบดูก่อนว่า ผลิตภัณฑ์ขายได้ คุณภาพดีจริงตามที่ลูกค้ารีวิว โอกาสขายสูงหรือไม่ โอกาสซื้อซ้ำมากแค่ไหน หลังจากมั่นใจแล้วค่อยลงทุนก็ยังไม่สาย
เคล็ดลับทั้งหมดนี้ หากศึกษาอย่างถ่องแท้ จะช่วยให้เราสามารถเริ่มต้น และ ยืนอยู่กับธุรกิจ Dropship และ การเป็นตัวแทนจำหน่ายได้ในระยะยาว
ที่มา : www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจ Startup