เช็กเลย "กรมสุขภาพจิต" เพิ่มช่องทางให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตช่วง "โควิด-19"
กรมสุขภาพจิต เพิ่มช่องทางการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตแก่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้แยกกักตัวที่บ้าน และผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากวิกฤติการแพร่ระบาด
กรมสุขภาพจิต เพิ่มช่องทางการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสำหรับประชาชนในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้แยกกักตัวที่บ้าน (Home isolation) กักตัวในชุมชน (Community isolation) และผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากวิกฤติการแพร่ระบาด ผ่าน LINE @1323FORTHAI และช่องทางสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการดูแลผู้ป่วย ผ่าน LINE @mcattcovid เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูแลด้านสุขภาพจิตภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่มีมากขึ้นในอนาคต
วันนี้ (21 กรกฎาคม 2564) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตตระหนักถึงปัญหาของประเทศไทยในขณะนี้ที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้นของเชื้อโควิด-19 และทรัพยากรที่จำกัดด้านสาธารณสุข ซึ่งทำให้มีการปรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยให้ทำการรักษาด้วยวิธี Home isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน) หรือ Community isolation (การแยกกักตัวในชุมชน) ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งอาจมีความกังวลมากขึ้นเพราะเป็นรูปแบบที่แตกต่างออกไปจากการรักษาทางกายกับสถานพยาบาลทั่วไป
นอกจากนี้ในสถานการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอาจมีแนวโน้มทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้นตามมา ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งต้องสูญเสียบุคคลที่ตนเองรักหรือสมาชิกในครอบครัวไป ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้อย่างมาก และอาจเกิดผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตได้ในระยะยาว
กรมสุขภาพจิตได้ติดตามและให้ความสำคัญกับกลุ่มต่าง ๆ ข้างต้นเป็นอย่างมาก จึงดำเนินการเพิ่มเติมช่องทางการให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตสำหรับประชาชนในกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ผู้แยกกักตัวที่บ้าน (Home isolation) กักตัวในชุมชน (Community isolation) และผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากวิกฤติการแพร่ระบาด ผ่าน LINE @1323FORTHAI ควบคู่ไปกับระบบสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่มีอยู่เดิม
และกรมสุขภาพจิตยังขอเชิญชวนให้พี่น้องประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 หรือกำลังแยกกักตัว หรือสูญเสียบุคคลในครอบครัวที่ท่านรัก ให้ประเมินสุขภาพจิตของตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วยแพลตฟอร์ม Mental Health Check In เพื่อให้ทราบว่าตนเองกำลังมีความเสี่ยงต่อปัญหาความเครียด ซึมเศร้า หรือคิดฆ่าตัวตายในระดับใด เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลรักษาด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็วต่อไป
แพทย์หญิงพรรณพิมล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังเปิดช่องทางสนับสนุนด้านสุขภาพจิตฉุกเฉินสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยประเภท Home/community isolation โดยเมื่อบุคลากรทางการแพทย์ประเมินพบว่าผู้ป่วยที่กำลังดูแลอยู่นั้น มีปัญหาโรคทางจิตเวช ยาเสพติด เครียด นอนไม่หลับ ซึมเศร้า มีแนวโน้มทำร้ายตัวเอง มีอาการหูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง ในระหว่างที่แยกกักตัวรักษาอยู่ที่บ้าน บุคลากรสามารถส่งต่อข้อมูลและขอการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตผ่านทางช่องทางแอปพลิเคชัน LINE @mcattcovid โดยเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตจะติดต่อกลับไปหาผู้ป่วยเพื่อประเมินอาการและให้คำปรึกษาเบื้องต้น และวางแผนการรักษาด้านสุขภาพจิตควบคู่ไปกับสุขภาพกายด้วย
นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช ก็จะสามารถส่งต่อข้อมูลได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย
กรมสุขภาพจิตขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้พี่น้องประชาชนไทยและบุคลากรทางสาธารณสุขที่กำลังทำงานอย่างเต็มศักยภาพทุกท่าน ให้ช่วยกันฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปได้ด้วยสุขภาพจิตและพลังใจที่ดี