ข่าว

พบวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" มีประสิทธิภาพต้าน โควิด-19 สายพันธุ์ "เดลตา" สูง

พบวัคซีน "ซิโนฟาร์ม" มีประสิทธิภาพต้าน โควิด-19 สายพันธุ์ "เดลตา" สูง

21 ก.ค. 2564

ศรีลังกา พบ วัคซีน "ซิโนฟาร์ม" มีประสิทธิภาพต้าน โควิด-19 สายพันธุ์ "เดลตา" Delta สูง ทั้งนี้ งานวิจัยด้านข้อมูลวัคซีน Sinopharm นี้ เป็นชิ้นแรกที่มีการเผยแพร่ในโลก

คณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีชยวรรธนปุระ หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของศรีลังกา พบว่า วัคซีน โควิด-19 ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 (COVID-19) ของ ซิโนฟาร์ม "Sinopharm" บริษัทเภสัชภัณฑ์สัญชาติจีน มีประสิทธิภาพสูงในการต้านเชื้อไวรัส โควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา "Delta" ซึ่งกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้

“เราพบวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลตาในระดับสูง โดยการตอบสนองของแอนติบอดีต่อสายพันธุ์เดลตาและแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์มีระดับคล้ายคลึงหลังการติดเชื้อตามธรรมชาติ” มหาวิทยาลัยฯ เปิดเผยผ่านเว็บไซต์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

 

ซิโนฟาร์ม, เดลตา, Sinopharm, Delta

(แฟ้มภาพซินหัว : พยาบาลถือขวดบรรจุวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของซิโนฟาร์มจากจีน ณ สำนักงานสาธารณสุขในศรีลังกา วันที่ 8 พ.ค. 2021)

 

 

การศึกษา พบว่า ร้อยละ 95 ของผู้ฉีดวัคซีนของซิโนฟาร์มครบโดส พัฒนาแอนติบอดีคล้ายผู้ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ตามธรรมชาติ อีกทั้งพบว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม จำนวน 2 โดส สร้างแอนติบอดีชนิดลบล้างฤทธิ์ในผู้รับร้อยละ 81.25 ใกล้เคียงกับกลุ่มคนที่มีประวัติป่วยโรคโควิด-19 ตามธรรมชาติ

ทีมวิจัยประกอบด้วย ศาสตราจารย์ นีลิกา มาลาวิก นักวิทยาศาสตร์ชาวศรีลังกา หัวหน้าแผนกภูมิคุ้มกันวิทยาและเวชศาสตร์โมเลกุลจากมหาวิทยาลัยศรีชยวรรธนปุระ ดอกเตอร์ จันทิมา จีวรรณดารา รวมถึงนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้แก่ ศาสตราจารย์ เกรแฮม ออกก์ และ ศาสตราจารย์ อเลน ทาวเซนด์

มาลาวิก เปิดเผยว่า วัคซีนของซิโนฟาร์มเป็นวัคซีนที่ใช้กันมากที่สุดในศรีลังกาขณะนี้ สืบเนื่องจากปริมาณวัคซีนที่มีสำรองอยู่ภายในประเทศ โดยศรีลังกาดำเนินการฉีดวัคซีนของซิโนฟาร์ม โดสแรก ให้ประชาชน 4.63 ล้านคนแล้ว และมีผู้ฉีดวัคซีนโดสสอง 1.29 ล้านคน โดยไม่มีรายงานกรณีผลข้างเคียงร้ายแรงเชื่อมโยงกับวัคซีนแต่อย่างใด

 

 

มาลาวิก กล่าวว่า การศึกษาข้างต้นเป็นงานวิจัยด้านข้อมูลวัคซีนของ ซิโนฟาร์ม ชิ้นแรกที่มีการเผยแพร่ในโลก โดยผู้เชี่ยวชาญได้พิจารณาทุกแง่มุมที่เป็นไปได้ของระบบภูมิคุ้มหลังการฉีดวัคซีนตัวนี้ ซึ่งถูกนำไปศึกษาประสิทธิภาพการป้องกันสายพันธุ์อัลฟา (Alpha) เบตา (Beta) ตลอดจนเชื้อไวรัส โควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิมด้วย

“ข้อสรุปของรายงานนี้ คือ เมื่อเป็นสายพันธุ์เดลตาและสายพันธุ์อื่น ๆ วัคซีนของซิโนฟาร์มสามารถกระตุ้นการตอบสนองของแอนติบอดีในระดับใกล้เคียงกับคนที่ติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ตามธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นเรื่องดีมาก” มาลาวิก ระบุและว่า “ร้อยละ 98 ของกลุ่มคนอายุ 20 - 40 ปี มีการพัฒนาแอนติบอดี ขณะสัดส่วนดังกล่าวในกลุ่มคนอายุมากกว่า 60 ปี อยู่ที่ร้อยละ 93 ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากคนสูงอายุมีแนวโน้มตอบสนองต่อวัคซีนน้อยกว่า”

ทั้งนี้ มาลาวิก เสริมว่า ข้อมูลของซิโนฟาร์มรูปแบบดังกล่าวไม่เคยเผยแพร่ในโลกมาก่อน และข้อมูลการใช้งานจริงเช่นนี้มีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นด้านวัคซีนทั้งในและต่างประเทศ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง