สัญญาณอันตราย "ไหล่ติด" ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อย่างที่คิด
อาการ "ไหล่ติด" เกิดขึ้นได้กับทุกคน และไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ใช้โทรศัพท์มือถือนานๆ หรือสะพายกระเป๋าที่หนักๆ มีโอกาสเป็นได้ทั้งนั้น ขอบอกว่าเป็นแล้ว ทรมานมากทีเดียว มาดูวิธีสังเกตอาการ และเลี่ยงความเสี่ยงกัน
“ไหล่ติด” หรือ ข้อไหล่ติดยึด (Frozen Shoulder) คือ ภาวะที่มีการขยับข้อไหล่ได้น้อย เคลื่อนไหวไม่ได้เต็มที่นานกว่า 2 สัปดาห์ บางคนอาจเริ่มจากมีอาการชาของแขน หรือมือ ปลายนิ้วเย็น ส่วนรายที่ข้อไหล่ตึงขัด มักจะเริ่มจากน้อย ๆ เช่น ไม่สามารถยกไหล่ได้สุดหรือไขว้หลังได้สุด แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะเป็นมากขึ้นจนขยับได้น้อย หรือไม่ได้เลย
ภาวะหัวไหล่ติด สามารถเกิดขึ้นได้เองตามวัย หรือจากการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น การถูกกระแทก และมักเกิดได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ไทรอยด์ และความผิดปกติที่ปอด เช่น วัณโรคหรือจุดที่ปอด ลักษณะจะมีการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อหัวไหล่ในช่วงแรก ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวไหล่ แต่ไม่มีจุดกดเจ็บที่ชัดเจน
อีกภาวะหนึ่งที่เกิดจากการทำงาน มักเกิดจากการอักเสบและเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ กระดูกสะบักด้านหลังและต้นคอ โดยมีอาการปวดตื้น อาการปวดอาจร้าวไปที่คอ หลัง หรือต้นแขนได้ และอาการที่เกิดขึ้น มักมีความสัมพันธ์กับการใช้งาน เช่น การพิมพ์งานเป็นเวลานาน ๆ การสะพายกระเป๋าหนักเสมอ โต๊ะทำงานสูงเกินไป เวลาพิมพ์งานต้องเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณคอและหัวไหล่มาก ความเครียด การขาดการออกกำลังกาย ภาวะนี้มักจะมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ แต่ไม่เป็นอันตรายร้ายแรงใด ๆ
วิธีการรักษา นอกเหนือจากการใช้ยาแก้อักเสบ และยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการแล้ว การประคบด้วยความร้อน โดยใช้ถุงน้ำร้อน ผ้าขนหนูชุบน้าอุ่น หรือใช้ยานวด ก็บรรเทาอาการได้ แต่การบริหารยืดข้อหัวไหล่ จะช่วยทำให้ภาวะนี้หายเร็วขึ้น ซึ่งสามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้าน เช่น การใช้มือไต่ผนัง หรือการรำกระบอง เป็นต้น
แต่ถ้าเป็นมาก ๆ อาจต้องใช้วิธีดมยาสลบดัดข้อหัวไหล่ หรือผ่าตัดส่องกล้องข้อหัวไหล่เพื่อตัด และยืดเยื่อหุ้มข้อหัวไหล่ที่หดรัดตัวอยู่
ก็เป็นวิธีรักษาในระดับที่มากขึ้น