"กรุงเทพฯ" รอดมั้ย รศ.ดร.เสรี เตือน "ฝนพันปี" ถล่มเหมือนเจิ้งโจวจะเกิดอะไรขึ้น
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ เตือน ลานีญา แผลงฤทธิ์ปลายปี ผวา ฝนพันปี ถล่ม "กรุงเทพฯ" ซ้ำรอย ยุโรป - เจิ้งโจว ตั้งคำถาม แผนรับมือ ชี้ การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญ
"กรุงเทพฯ" รอดมั้ย จากกรณี "ฝนพันปี" ถล่มเจิ้งโจวหนักสุดรอบพันปี น้ำท่วมอัมพาตยกเมือง ยอดผู้เสียชีวิตยังไม่นิ่ง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เพจเฟซบุ๊ก รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ระบุ สัปดาห์ก่อนมีเหตุการณ์ภัยซ้ำซ้อนน้ำท่วมใหญ่ที่ยุโรป มาสัปดาห์นี้ เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ ประเทศจีน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 20 คน ในเมืองหลวง เจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน และมีการอพยพกว่า 200,000 คน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจมน้ำ น้ำล้นตลิ่ง
รศ.ดร.เสรี ยังระบุอีกว่า ศ. Johnny Chan แห่งมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าวว่า นี่คือผลพวงจากภาวะโลกร้อน ทำให้มีปริมาณฝนตกหนักในรอบ 1,000 ปี กล่าวคือ ปริมาณฝนสะสม 3 วัน ที่เมืองเจิ้งโจว มีมากถึง 617.1 mm (โดยที่ปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีที่เมืองนี้ 640.8 mm) กล่าวคือ ฝนตก 3 วัน เทียบเคียงฝน 1 ปี เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดบ่อยครั้งขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ รศ.ดร.เสรี ยังเปิดเผยด้วยว่า ปลายปีนี้ คาดว่าปรากฏการณ์ ลานีญา มีโอกาสเกิดขึ้น ถ้าปริมาณฝน 1,000 ปี มาตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครในปีที่เราเผชิญกับ COVID-19 เหมือนเจิ้งโจวที่มีประชากรใกล้เคียง กทม. จะเกิดอะไรขึ้น ? แผนรองรับเป็นอย่างไร ? จะอพยพกันอย่างไร ? อพยพไปที่ไหน ? นี่คือมหันตภัยซ้ำซ้อน ที่เราควรตั้งอยู่ในความไม่ประมาท และมีสติน่ะครับ ผมได้จำลองสถานการณ์ไว้แล้ว (ดูรูปแนบ) การประเมินความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญมาก โปรดดิดตามตอนต่อไป
ล่าสุด รศ.ดร.เสรี ศุภทราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้สัมภาษณ์กับ "คมชัดลึกออนไลน์" ขยายเรื่อง "ฝนพันปี" นี้ว่า มีการคาดการณ์ฝนในเดือนตุลาคมจะมีตกหนัก เพราะฉะนั้นก็คิดว่า "กรุงเทพฯ" มีความเสี่ยงจากฝนตกหนัก ก็ต้องป้องกันไว้ เพราะขณะนี้ หน่วยงานต่าง ๆ รุมในเรื่อง โควิด-19 แต่อาจลืมไปแล้วเรื่องระบบระบายน้ำเป็นอย่างไร เพราะมีเวลานับจากนี้เพียง 2 เดือนเท่านั้นให้เตรียมความพร้อม หน่วยงานภาครัฐต้องเตรียมความพร้อมไว้ด้วย ไม่เช่นนั้นจะเกิดความโกลาหลได้
"เหตุการณ์พวกนี้สิ่งที่คาดการณ์ได้ยากสุด คือ ฝนจะตกเท่าไหร่ กรุงเทพมหานครมันอ่อนไหวอยู่แล้ว ฝนตกเกิน 60 มิลลิเมตร มันก็เป็นไปแล้ว เจิ้งโจว ฝนตกวันละ 200 มิลลิเมตร มันเหนื่อยแล้วไง 3 วัน สมมติ 600 มิลลิเมตร จะท่วมขนาดไหน กำลังศึกษาดูว่าถ้าตกขนาดไหน ปกติฝนบ้านเราจะตกหนักกว่า เจิ้งโจว เพราะเราอยู่ในโซนร้อน ของเขาอยู่ในโซนอบอุ่น เพราะฉะนั้นปกติฝนเราจะหนักกว่าเขาโดยทั่วไป" รศ.ดร.เสรี บอกกับผู้สื่อข่าวคมชัดลึกออนไลน์
ทั้งนี้ "กรุงเทพฯ" เคยเกิด "ฝนพันปี" ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2537 โดยข้อมูลจากสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2560 ระบุว่า เหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2537 มีปริมาณน้ำฝนรวม 487 มิลลิเมตร
ส่วนน้ำท่วมครั้งใหญ่อีกรอบในกรุงเทพฯ คือ ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2560 มีปริมาณน้ำฝนมากถึง 504 มิลลิเมตร
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หนักสุดรอบพันปี "เจิ้งโจว" ฝนถล่มน้ำท่วมอัมพาตยกเมืองยอดผู้เสียชีวิตยังไม่นิ่ง
- รู้จัก "แลมบ์ดา" โควิดสายพันธุ์พิศวง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผย ใกล้เคียง เดลตา
- "ลงทะเบียนเดินทางข้ามจังหวัด" Covid-19.in.th หยุดเชื้อเพื่อชาติ สรุปวิธีที่นี่
- เช็คเลย www.sso.go.th ลงทะเบียนประกันสังคม มาตรา 33-39-40 โอนเงินวันไหนบ้าง
- เช็คคิวใหม่ "ไทยร่วมใจ" อายุ 18 - 59 ปี เลื่อนมาฉีดวัคซีนพรุ่งนี้ เวลาสถานที่เดิม
- "พักชำระหนี้ 2 เดือน" ทีเอ็มบีธนชาตช่วยตั้งหลักลูกค้าสินเชื่อลงทะเบียนด่วนที่นี่
- สั่งปิด "สถานธรรมไท่หลินฝอเอวี้ยน - บลูชิพส์ไมโครเฮ้าส์" ระวัง 2 คลัสเตอร์ใหม่