"ประชาธิปัตย์" กระซวก ศบค. จี้ทบทวน ประกาศปิดร้านอาหารภายในห้าง
"ประชาธิปัตย์" กระซวก ศบค. จี้ทบทวนการ ประกาศปิดร้านอาหารภายในห้าง หวั่นซ้ำเติมผู้ประกอบการ จนทำให้เกิดวิกฤตการณ์ร้านค้าขาดแคลน
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเรียกร้องให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. เร่งทบทวนมาตรการสั่งปิดร้านอาหาร ภายในห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตี้ มอลล์ ในพื้นที่ 13 จังหวัดสีแดงเข้ม เนื่องจากร้านอาหารภายในห้าง ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่การสั่งปิดดังกล่าว เป็นการสร้างผลกระทบให้กับบรรดาเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการ และประชาชน รวมทั้งเศรษฐกิจในภาพรวม
ทั้งนี้ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ เปิดเผยว่า เข้าใจดีถึงเจตนารมณ์ของ ศบค. ที่อยากดำเนินการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เร็วที่สุด แต่การสั่งปิดร้านอาหาร ภายในห้างสรรพสินค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ในพื้นที่สีแดงเข้ม เป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ และประชาชนครั้งใหญ่ โดยเฉพาะบรรดาเจ้าของธุรกิจขนาดกลาง ที่เปิดร้านอาหารภายในห้าง เพราะเป็นการสั่งปิดแบบทันที และไม่มีการเยียวยาที่เหมาะสม
รวมยังไม่มีข้อมูลใด ที่บ่งชี้ว่า ร้านอาหารในห้าง เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ ได้มากกว่าร้านอาหารข้างนอก โดยมาตรการในครั้งนี้ ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ต้องประสบกับปัญหาของค้างสต๊อก การขาดสภาพคล่องด้านการเงิน เสี่ยงต่อการปิดกิจการ ส่วนลูกจ้างต้องว่างงาน หรือตกงานอย่างกะทันหัน
ในขณะที่ประชาชนทั่วไป ก็หาร้านอาหารได้ยากขึ้น และต้องไปแออัดต่อคิวซื้อกลับบ้านตามร้านอาหาร ที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งนอาจจะสร้างผลเสียให้กระบวนการทางสาธารณสุข มากกว่าจะเป็นผลดี จึงอยากเรียกร้องให้ ศบค. เร่งทบทวนมาตรการดังกล่าว และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม อย่าปล่อยให้ประชาชนต้องเผชิญวิกฤติ แบบซ้ำไป ซ้ำมา อีกเลย
นอกจากนี้ นายปริญญ์ ยังได้เสนอ มาตรการ 7 ข้อ ในการแก้วิกฤตการณ์ขาดแคลนเตียง ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 อย่างเร่งด่วน ถึงรัฐบาล และศบค. ดังนี้
1.เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและอนุมัติการนําเข้า Rapid Antigen Test Kits อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ราคาในท้องตลาดถูกลง ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และควรแจกชุดตรวจฟรีถึงบ้าน
2. ปรับเปลี่ยนสถานที่ เช่น โรงเรียนแพทย์ สถานที่ของกองทัพ และพื้นที่ของเอกชน มาเป็นศูนย์พักพิงแยกผู้ติดเชื้อออกมาจากชุมชนแออัด และมีมาตรการดูแลเชิงรุกก่อนส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล
3. เร่งแจกยา "ฟ้าทะลายโจร" แก่ผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่ต้องศึกษาเพิ่มแล้ว เพราะตอนนี้มีการศึกษาวิจัยจำนวนมาก ที่ออกมายืนยันว่า ใช้ยานี้กับผู้ป่วยได้ดี ในจำนวนที่เหมาะสม รวมถึงควรเร่งจัดหายา Favipiravir และ Remdesivir ให้เพียงพอ อย่าให้มีคอขวดในการนําเข้าแบบตอนนี้ รวมทั้งควรสนับสนุนให้ผลิตยาดังกล่าวได้อย่างเสรีในประเทศไทย
4. ปลดล็อกการจัดซื้อวัคซีน ให้มีความคล่องตัว และโปร่งใสมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีน mRNA และวัคซีนเทคโนโลยีใหม่ เช่น โนวาแวกซ์ (Novavax) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ทัพหน้าและประชาชนในพื้นที่วิกฤติ รวมถึงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนใบยา ของจุฬาฯ ที่เป็นหนึ่งในความหวังสกัดเชื้อกลายพันธุ์อย่างปลอดภัย
5. ปรับปรุงและพัฒนาการสื่อสารให้ชัดเจน ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เช่น องค์ความรู้ด้านการกักตัวอยู่บ้าน (Home Isolation) การบริหารจัดการคิวฉีดวัคซีนให้มีความเป็นธรรมและเป็นไปอย่างเหมาะสม
6. เยียวยากลุ่มธุรกิจที่ให้ความร่วมมือ ปิดกิจการเป็นอย่างดีมาโดยตลอด และได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น ฟิตเนส ร้านอาหาร อีเว้นท์ นักดนตรี ธุรกิจกลางคืน หรือกลุ่มบันเทิงให้เหมาะสม ทันท่วงที โดยกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ควรจัดหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ที่ไม่มีดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ พักหนี้ทั้งต้นและดอกอย่างจริงจัง
และจัดสรรงบฟื้นฟูเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิต ไม่ใช่แค่แจกเงิน เช่น การพัฒนาศักยภาพและทักษะใหม่ๆให้กับประชาชนผ่านสื่อออนไลน์เพื่อเพิ่มแรงงานฝีมือ และควรขยายผลโครงการที่ทำไปแล้วและได้ผลตอบรับที่ดี อาทิ โครงการกระจายความรู้ สู่ผู้ประกอบการยุคใหม่ (From Gen Z to be CEO) ของกระทรวงพาณิชย์ที่ท่านรองนายกฯจุรินทร์ได้ริเริ่ม โครงการเรียนจบพบงาน ของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น
7. ต้องช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนให้ได้อย่างจริงจัง โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น การประปาและการไฟฟ้าต้องยอมรับภาระต้นทุนในส่วนนี้เพื่อช่วยลดค่านํ้าค่าไฟให้กับประชาชนมากกว่าเดิม ภาครัฐต้องลดภาษีและค่าธรรมเนียมทุกชนิด รวมถึงบริษัทโทรคมนาคมต้องปรับลดค่าอินเตอร์เน็ตลงด้วย เพื่อสนับสนุนการทํางานและการศึกษาจากที่บ้าน (Work/Study From Home) โดยรัฐบาลอาจจัดสรรงบมาสนับสนุนด้วยได้
"พรรคประชาธิปัตย์" ในฐานะตัวแทนของประชาชน เราพยายามทําหน้าที่ในส่วนของเราให้ดีที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา ท่านจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และประธานมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช ได้นําคณะรัฐมนตรีของพรรค ปล่อยคาราวานรถ ‘ถุงนํ้าใจ ปชป. ส่งผู้รอเตียง’ จัดส่งอาหารถึงบ้านประชาชนในพื้นที่ กทม. , ปริมณฑล และภาคใต้
รวมถึงช่วยจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยที่ทาง ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 พรรคประชาธิปัตย์ หรือ ศปฉ.ปชป. ได้ประสานงานไปแล้วกว่า 1,600 เตียง
อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จะเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระด้านสาธารณสุขของไทย และเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ทุกท่าน โดยคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาล และศบค. จะเร่งดำเนินการแก้ไขวิกฤตนี้ตามที่ได้เสนอไป และมองที่ประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อพาประเทศฝ่าวิกฤตไปได้ด้วยกัน” นายปริญญ์กล่าว