ข่าว

ปัญหา "ลูกไม่อาบน้ำ" ตอนเช้า ทำเอาเหล่าคุณแม่ต้องกลุ้มใจ

ปัญหา "ลูกไม่อาบน้ำ" ตอนเช้า ทำเอาเหล่าคุณแม่ต้องกลุ้มใจ

24 ก.ค. 2564

ช่วสถานการณ์ "โควิด-19" หลายพื้นที่ "ล็อกดาวน์" และมีการปิดสถานศึกษา น้องๆหนูๆ นักเรียนต้องใช้วิธี "เรียนออนไลน์" และปัญหาที่เหล่าคุณแม่กลุ้มใจในช่วงนี้ นั่นก็คือปัญหา "ลูกไม่อาบน้ำ"

ช่วสถานการณ์ "โควิด-19" หลายพื้นที่ "ล็อกดาวน์" และมีการปิดสถานศึกษา น้องๆหนูๆ นักเรียนต้องใช้วิธี "เรียนออนไลน์" และปัญหาที่เหล่าคุณแม่กลุ้มใจในช่วงนี้ นั่นก็คือปัญหา "ลูกไม่อาบน้ำ" ตอนเช้า และจะอาบอีกทีตอนเย็นๆ ค่ำๆ งานนี้คุณแม่เลยต้องมาปรึกษาปัญหากับคุณหมอ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือ คุณหมอมินบานเย็น เจ้าของเพจ "เข็นเด็กขึ้นภูเขา" ได้เขียนเรื่องนี้เอาไว้ได้อย่างน่าสนใจ ถึงปัญหา "ลูกไม่อาบน้ำ" ตอนเช้า

 

ช่วงนี้เด็กๆ หลายคนไม่ได้ไปโรงเรียนตามปกติ "เรียนออนไลน์" ที่บ้าน หมอพบว่าหลายๆ บ้านเลยที่มีเหตุการณ์อย่างที่คุณแม่ถามมา ก็คือ ลูกๆ ตื่นมาไม่ยอมอาบน้ำ และจะอาบอีกทีตอนเย็นๆ ค่ำๆ

 

คุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่บ้านเห็นแล้วก็ไม่สบายใจ อยากให้ลูกอาบน้ำ แต่ลูกบอก ไม่เห็นจำเป็น ไม่อาบน้ำก็สบายดี กลายเป็นเรื่องเถียงกันทะเลาะกันใหญ่โต

 

จริงๆ ก็ไม่ใช่เฉพาะช่วงนี้ เพราะเรื่องจิปาถะในชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าว อาบน้ำ สระผม แปรงฟัน ฯลฯ มักทำให้เกิดความขัดแย้งบ่อยๆ ในหลายๆ ครอบครัว เป็นปกติอยู่แล้ว ยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งบอกว่า “ไม่อาบน้ำก็ประหยัดน้ำดี ไม่เสียเวลาชีวิต ไม่เห็นจะทำให้ใครๆ เดือดร้อน แต่แม่ไม่เข้าใจหนู ไม่ฟังเหตุผลหนูบ้างเลย เอาแต่บอกว่าจะได้มีระเบียบ รับผิดชอบ”

 

แม่บอกว่า “อยากให้มีลูกอาบน้ำจะได้ตัวสะอาดๆ เดี๋ยวเป็นผื่นคัน กลากเกลื้อน จริงๆ ที่แม่ห่วงที่สุดคือ อนาคตของลูก การไม่อาบน้ำวันนี้ อาจทำให้ทีหลังลูกจะไม่สามารถรับผิดชอบดูแลตัวเองได้ แล้วถ้าไม่มีแม่ดูแลจะเป็นยังไง” แม่ปิดท้ายว่า “เสียใจที่ลูกพูดว่า ไม่เห็นทำให้ใครเดือดร้อน เหมือนเขาไม่แคร์แม่เลยว่าจะห่วงเขาแค่ไหน”

 

 

ความขัดแย้งในเรื่องใดๆ มักเกิดจากการไม่ทันได้รับฟังแต่ละฝ่ายมากเพียงพอ และปล่อยให้อารมณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราไม่มีสติในการสื่อสารกันให้เข้าใจ กลายเป็นทะเลาะกันมากกว่า ส่วนใหญ่เวลาจัดการความขัดแย้งตรงนี้ถ้ามีโอกาสได้คุยกับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก หมอจะเปิดโอกาสให้แต่ละคนอธิบายเหตุผลของตัวเอง

 

1. หมอคุยกับแม่

 

  • พบว่าลึกๆ คือ แม่เป็นห่วงอนาคตของลูก กลับว่าถ้าตอนนี้ไม่อาบน้ำ ต่อไปจะยิ่งไม่มีระเบียบ ไม่รับผิดชอบ ความเป็นห่วงทำให้เป็นอารมณ์มาก
  • หมอเลยคุยกับแม่ว่า จริงๆ การที่เด็กไม่อาบน้ำตอนเช้า คงไม่ได้หมายถึงว่าทีหลังจะไม่รับผิดชอบตัวเองหรือดูแลตัวเองไม่ได้ หมอลองถามแม่เกี่ยวกับการดูแลรับผิดชอบบตัวเองของเด็กในเรื่องอื่นๆ แม่ว่ายังโอเค ตั้งใจเรียน ทำการบ้านส่งครบ ไม่เคยต้องเตือนเรื่องเรียน .. อืม แสดงว่าเรื่องยากๆ เขาก็ทำได้ แสดงว่าอันนี้เขาแค่ไม่อยากทำ ไม่คิดว่าจำเป็น คงไม่ได้เกี่ยวกับรับผิดชอบ/ความเป็นไปในอนาคตอะไรขนาดนั้น
  • ถ้าอยากให้เด็กอาบน้ำ ใช้การสื่อสารสร้างแรงจูงใจ ให้เด็กรู้สึกว่าไม่ได้ถูกบังคับ เพราะเขาไม่ใช่เด็กเล็กๆ แล้ว เป็นวัยรุ่น บังคับยิ่งจะต่อต้าน
  • สร้างแรงจูงใจ คือปกติวัยรุ่นรักสวยรักงาม ลองพูดให้เขาเกิดความตระหนักว่า ถ้าไม่อาบน้ำล้างน้ำจะมีอะไรตามที่เขาจะไม่ชอบ เช่น ไม่อาบน้ำล้างหน้า สิวอาจขึ้น ไม่แปรงฟัง ฟันจะผุได้นะ ต้องไปหาหมอฟัน ช่วงนี้ไปยากด้วย ฯลฯ
  • ถ้าเด็กไม่อยากอาบจริงๆ ลองพบกันครึ่งทาง แปรงฟัน ล้างหน้า ก็แล้วกัน เด็กก็อาจจะทำตาม เพราะไม่ได้ใช้เวลามาก

 

2.หมอคุยกับเด็ก

 

  • ฟังเขาก่อน แล้วใช้เป็นการให้คำเห็น ตั้งคำถาม หลักเลี่ยงคำสั่ง
  • เด็กบอกว่า “ไม่อาบน้ำก็ประหยัดน้ำดี ไม่เสียเวลาชีวิต ไม่เห็นจะทำให้ใครๆ เดือดร้อน”
  • พูดกับเด็ก “หนูว่าที่ว่าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ดูเผินๆ เป็นแบบนั้น เพราะเป็นร่างกายหนู แต่หมอคิดว่า มีคนหนึ่งแน่ๆ รู้สึกเดือดร้อนมาก” .. “ใครอ่ะหมอ” .. “คุณแม่ไง เขารักหนู ห่วงหนูกลัวมีผื่นมีสิว ฟันผุ เป็นเพราะแม่รักหนู เป็นห่วงหนู .. หนูรักแม่มั้ย” .. “หนูรักแม่นะ” .. “ถ้าแบบนั้น ถ้าพอทำได้ก็ทำให้แม่สบายใจหน่อยดีไหม และมันก็จะดีกับหนูด้วย“.. “ดียังไงเหรอคะ” .. “หมอว่าอาบน้ำ ออกมาสดชื่น หายง่วงดีด้วย พร้อมเรียนออนไลน์ทั้งวัน”
  • เด็กบอกต่อ “จริงๆ ก็อาบได้ อยากอาบ แต่มัวแต่เล่นมือถือ จนไม่มีเวลา” ตรงนี้ทำให้เรามีข้อมูลมากขึ้น “ดังนั้นแบบนี้ดีมั้ย ถ้าตื่นมาอย่าเพิ่งหยิบมือถือ เข้าห้องน้ำ กินข้าวก่อน ถ้ามีเวลาก่อนเรียนค่อยเล่น ทำในสิ่งที่จำเป็นก่อน ชีวิตจะง่ายขึ้น แม่ก็สบายใจ หนูก็สบายใจด้วย ว่าไง”
  • เด็กก็เห็นด้วย แต่ขอเริ่มด้วยการแปรงฟัน ล้างหน้าก่อน พร้อมให้เหตุผลว่า คนฝรั่งเขาก็ไม่อาบน้ำ หนูไม่ค่อยมีเหงื่อมาก คิดว่าไม่อาบน้ำได้

 

สรุปว่า พบกันครึ่งทาง แม่เป็นห่วงลูกน้อยลง และเข้าใจลูกมากขึ้น ลูกก็เข้าใจแม่ ยอมที่จะล้างหน้า แปรงฟัน ก่อนเรียน แต่ยังไม่อาบน้ำ เริ่มแบบนี้ก่อน ก็ไม่ต้องทะเลาะกันแล้ว

 

ในการเลี้ยงลูก โดยเฉพาะในเด็กที่โตหน่อยหรือเป็นวัยรุ่น เขาจะมีเหตุผลของเขา เราอาจจะต้องตั้งสติว่าเรื่องแบบไหนที่สำคัญถึงกับต้องบังคับและเปลี่ยนแปลง บางเรื่องที่เราสามารถให้เขาเรียนรู้และรับผิดชอบเอง

 

ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นอันตรายต่อตัวเอง ไม่กระทบละเมิดคนอื่นๆ ก็ให้เขาเรียนรู้รับผิดชอบ เช่น แม่ห่วงลูกที่ลูกไม่อาบน้ำ เดี๋ยวจะเป็นผื่น ห่วงว่าลูกจะคัน จะไม่สบายตัว ตรงนี้ก็คงต้องให้เราเรียนรู้ว่าถ้ามีผื่นคัน ถ้าไม่สบายตัวจะเป็นอย่างไร

 

เรื่องความรับผิดชอบนิสัยส่วนตัวในชีวิตประจำวันแบบนี้ จริงๆ เราบอกและสอนลูกได้ในตอนที่เขาเป็นเด็ก ปลูกฝังลักษณะนิสัยที่รับผิดชอบตัวเองอย่างเหมาะสม แต่เมื่อเขาเป็นวัยรุ่นแล้ว (คร่าวๆ คือหลังอายุ 10 ขวบ) เรื่องกิจวัตรประจำวันแบบนี้ควรให้เขาดูแลตัวเอง ยิ่งไปจู้จี้ทุกเรื่อง จะทำให้พ่อแม่ขัดแย้งกับลูกโดยไม่จำเป็น

 

หมอทราบดีว่าพ่อแม่ทุกคนรักและเป็นห่วงลูก ที่ทำไปก็เพราะรักและเป็นห่วง แต่ความรักก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ประนีประนอม รับฟังกันและกัน จะเข้าใจกันมากขึ้น และเชื่อหมอว่าถ้าเราฟังเด็กมากขึ้น เขาก็จะฟังเรามากขึ้นด้วยค่ะ

 

ส่งกำลังใจให้กันและกัน และขอให้มีสุขภาพที่ดีค่ะ

 

ปัญหา \"ลูกไม่อาบน้ำ\" ตอนเช้า ทำเอาเหล่าคุณแม่ต้องกลุ้มใจ

 

ขอบคุณเพจ เข็นเด็กขึ้นภูเขา