ข่าว

"แว่นตาในเด็ก" ถามตอบ 6 ข้อ คลายสงสัย เมื่อลูกน้อยมีปัญหาด้านสายตา

"แว่นตาในเด็ก" ถามตอบ 6 ข้อ คลายสงสัย เมื่อลูกน้อยมีปัญหาด้านสายตา

24 ก.ค. 2564

ควรใส่ตลอดเวลาเลยไหม ตัดแว่นที่โรงพยาบาลโดยจักษุแพทย์ต่างจากร้านแว่นหรือไม่ "แว่นตาในเด็ก" ถามตอบ 6 ข้อ คลายสงสัย เมื่อลูกน้อยมีปัญหาด้านสายตา

คลายข้อสงสัย "แว่นตาในเด็ก" เมื่อลูกน้อยมีปัญหาด้านสายตา หากการใส่แว่นเป็นเพียงการเสริมบุคลิกภาพหรือเครื่องประดับชิ้นหนึ่งที่ทำให้คุณดูดีขึ้นก็คงไม่ต้องกังวลใด ๆ แต่หากเป็นเพราะมีปัญหาสายตาสั้น หรือสายตายาวแล้วก็ อาจไม่ใช่สิ่งที่หลาย ๆ คนชอบนักที่จะต้องมีไอเทมชิ้นนี้ติดตัวอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีคอนแทคเลนส์เป็นอีกทางเลือกก็ตาม แต่ก็คงไม่สะดวกและปลอดภัยเท่าแว่นสายตา คราวนี้ถ้าปัญหาสายตาเกิดกับลูก ๆ ของเราล่ะ คุณพ่อคุณแม่คงกังวลจนเกิดคำถามไม่มากก็น้อย วันนี้เรานำ 6 คำถาม เรื่อง แว่นตาในเด็ก มาตอบคลายข้อสงสัยโดย จักษุแพทย์ แพทย์หญิง ณัฐสุชา หวังถิรอำนวย เริ่มกันเลยค่ะ

Question 1 : ลูกสายตาสั้นค่ะ ได้รับแว่นไปแล้ว ควรใส่ตลอดเวลาเลยไหมคะ หรือว่าใส่ไปโรงเรียนก็พอ

Ans : ถ้าสายตาสั้นน้อย ยาวน้อย เอียงน้อย (น้อยกว่า 2.00 โดยประมาณ) ไม่จำเป็นต้องใส่ตลอดเวลา แต่ถ้ามีโรคตาบางชนิด เช่น ตาเข ตาเหล่ สายตาผิดปกติมาก หรือมีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วย ควรใส่แว่นให้มากที่สุด

  • บางคนมีความเชื่อว่า ถ้าใส่แว่นตลอดเวลาจะทำให้ค่าสายตาเพิ่มขึ้น ความเป็นจริง คือ สายตาจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติ สายตายาวในเด็กจะลดลง สายตาสั้นจะเพิ่มขึ้น สายตาเอียงมักจะคงที่ ดังนั้น การใส่แว่นจะทำให้การมองเห็นชัดเจนขึ้น ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสายตา

 

Question 2 : การตัดแว่นที่โรงพยาบาลโดยจักษุแพทย์ต่างจากร้านแว่นไหมคะ

Ans : ในผู้ป่วยเด็กค่อนข้างมีความแตกต่างกันอยู่ค่ะ เนื่องจากเด็กมีความสามารถในการเพ่งมองสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าผู้ใหญ่ ทำให้การวัดสายตาได้ค่าที่ไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับการเพ่งของเด็ก ดังนั้น การวัดสายตาในเด็กจึงมักมีการหยอดยาลดการเพ่งเพื่อทำให้การวัดสายตามีค่าที่น่าเชื่อถือ ซึ่งยาลดการเพ่งนั้นสามารถหยอดให้กับผู้ป่วยได้โดยแพทย์และพยาบาลเท่านั้น ดังนั้น การวัดสายตาผู้ป่วยเด็กที่โรงพยาบาลจึงได้ค่าที่น่าเชื่อถือมากกว่า เนื่องจากสามารถหยอดยาลดการเพ่งได้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ยาลดเพ่งไม่จำเป็นต้องหยอดทุกคน ขึ้นกับอายุและความร่วมมือของเด็ก และควรต้องหยอดในกรณีต่อไปนี้

  1. เด็กที่มีตาเหล่
  2. เด็กเล็ก ๆ ที่อยู่นิ่งไม่ได้ หรือ เด็กโตที่ไม่ร่วมมือ
  3. เด็กที่มีค่าสายตาผิดปกติมาก
  4. เด็กที่มีตาขี้เกียจ อย่างน้อยต้องหยอดในครั้งแรกที่มาตรวจ

 

Question 3 : หลังจากไปวัดสายตาที่โรงพยาบาลมา ได้รับการหยอดตาก่อนวัดแว่น ลูกบ่นว่ามองเห็นไม่ชัด อ่านหนังสือไม่ได้ อาการนี้จะเป็นนานแค่ไหนคะ

Ans : ขึ้นอยู่กับชนิดของยาลดการเพ่งที่ใช้ค่ะ เมื่อหยอดยาลดการเพ่งจะทำให้ความสามารถในการมองใกล้ลดลง และม่านตาขยาย ทำให้มีอาการสู้แสงไม่ได้ และ มองใกล้ไม่ชัด ซึ่งยาในกลุ่มนี้มียาที่ออกฤทธิ์ 4 - 6 ชั่วโมง , นาน 1 วัน ไปจนถึงยาที่ออกฤทธิ์ 2 สัปดาห์เลยค่ะ (สามารถสอบถามกับแพทย์ผู้ให้การรักษาได้ค่ะ)

Question 4 : ไปวัดสายตามาลูกสายตาสั้นค่ะ โตขึ้นจะหายไหมคะ

Ans : ในเด็กปกติมักมีค่าสายตาเป็น สายตายาว และ จะยาวน้อยลงเรื่อย ๆ จนค่าสายตาเป็นปกติที่อายุประมาณ 7 ปี ส่วนในเด็กที่มีสายตาสั้น สามารถทำนายได้เลยว่ามีแนวโน้มที่จะสั้นเพิ่มขึ้นไปอีกค่ะ ถึงแม้จะได้รับการใส่แว่น หรือไม่ได้ใส่แว่นก็ตาม ค่าสายตาจะมีการเปลี่ยนแปลงช้าลงหลังอายุ 10 ขวบ และส่วนมากคงที่หลังอายุ 20 ปี ปัจจุบันมียาหยอดตาชะลอสายตาสั้น (0.01% Atropine) ที่ช่วยชะลอค่าสายตาสั้นในผู้ป่วยเด็กที่มีสายตาสั้นขึ้นเร็ว ยาชนิดนี้ต้องมารับยาที่โรงพยาบาลทุกเดือนและหยอดทุกวันติดต่อกันอย่างน้อยนาน 2 ปี

 

Question 5 : ลูกมีสายตาเอียงด้วยสั้นด้วยค่ะ ทำ LASIK , RELEX แก้ได้ไหมคะ

Ans : การรักษาสายตาผิดปกติด้วยวิธี LASIK , RELEX สามารถรักษาได้ทั้ง สายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงค่ะ แต่ต้องได้รับการตรวจสภาพตาก่อนการทำ ว่ามีความพร้อมในการรักษาด้วยวิธีนี้หรือไม่ และมักทำในผู้ป่วยอายุมากกว่า 20 ปี เนื่องจากสายตาค่อนข้างคงที่แล้ว

Question 6 : สายตายาวในเด็กกับในคนแก่เหมือนกันไหมคะ

Ans : ต่างกันค่ะ สายตายาวในเด็ก (Hyperopia) เกิดจากลูกตามีขนาดเล็กเกินไป จึงเกิดภาพในตำแหน่งที่ทำให้มองเห็นไม่ชัดทุกระยะ ทั้งมองใกล้และมองไกล ซึ่งเป็นภาวะปกติในเด็ก เด็กมักสามารถเพ่งมองจนเห็นได้ชัดเจน และเมื่ออายุมากขึ้นลูกตามีขนาดใหญ่ขึ้นสายตาสามารถกลับมาเป็นค่าสายตาปกติได้ ต่างกับสายตายาวในผู้สูงอายุ (Presbyopia) ที่เกิดจากเลนส์ตาแข็งตัว ไม่สามารถปรับความหนาของเลนส์ให้ป่องขึ้นเพื่อมองใกล้ได้ จึงต้องยืดแขนออกไปหรือใส่แว่นเพื่อให้อ่านหนังสือได้ชัดเจนขึ้นค่ะ

ข้อมูล : โรงพยาบาลพญาไท