'เดียร์ วทันยา'ชี้ ในที่สุด"ความจริง" พิสูจน์จุดยืน-อุดมการณ์ งดโหวต 'ศักดิ์สยาม' ปมที่ดิน" เขากระโดง"
ส.ส."เดียร์-วทันยา" โพสต์"ความจริง"คือเครื่องพิสูจน์จุดยืนและอุดมการณ์เธอและเพื่อน ส.ส.ที่ไม่โหวตเห็นชอบให้"ศักดิ์สยาม"ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเพราะในที่สุด"รฟท."มีหนังสือแจ้ง"กรมที่ดิน"ให้เพิกถอนโฉนด"เขากระโดง" บุรีรัมย์ 5 พันไร่
"เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี "ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กว่า
ในที่สุด…“ความจริง”คือเครื่องพิสูจน์จุดยืนและอุดมการณ์ หนังสือขอให้เพิกถอนสิทธิ์ที่ดินเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ของ รฟท.ว่า #ถือครองโดยผิดกฎหมาย
นี่คือคำตอบว่าทำไม"เดียร์"และเพื่อน"ส.ส."ถึงไม่สามารถโหวตเห็นชอบให้"รมว. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา (20 กุมภาพันธ์ 2564)
#หน้าที่มาพร้อมความรับผิดชอบ
#อภิปรายไม่ไว้วางใจ
#เขากระโดง
สำหรับการใช้สิทธิ "งดออกเสียง"ของ"เดียร์-วทันยา"ในการลงคะแนนเกี่ยวกับญัตติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลซึ่งได้แก่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม นั้น
เธอได้ให้เหตุผลว่าการที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร"กลุ่มดาวฤกษ์" ใช้สิทธิ"งดออกเสียง"ในการลงคะแนนญัตติไม่ไว้วางใจ ก็เพราะว่าตลอดการอภิปรายและการชี้แจง 4 วัน (16-19 กพ.) ไม่พบคำชี้แจงที่ชัดเจนเพียงพอของ รมว.คมนาคม ในการตอบคำอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน
และทำให้สังคมตั้งข้อกังขาข้อสงสัยในสองประเด็นหลักที่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน คือ เรื่องการเปลี่ยน เงื่อนไข (TOR)และการล้มการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและข้ออภิปรายเรื่องการไม่ปกป้องหรือเรียกคืนที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยในพื้นที่ เขากระโดงจังหวัดบุรีรัมย์
ทั้งสองประเด็นยังไม่ได้รับคำตอบอย่างชัดเจน เป็นสองประเด็นที่สองรัฐวิสาหกิจอยู่ในการกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมโดยตรง คือ รฟท.และ รฟม.
ส.ส.ในกลุ่มดาวฤกษ์ ได้พยายามอย่างที่สุดในการปฏิบัติตามมติพรรคด้วยการไม่ลงคะแนนไม่ไว้วางใจอย่างไรก็ตามจำเป็นต้องปฏิบัติตามจิตวิญญาณ ความเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรด้วยการ"งดอออกเสียง" และพร้อมน้อมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นโดยถือว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้แทนปวงชน อย่างดีที่สุดแล้ว.
ส่วนมหากาพย์"ที่ดินเขากระโดง"นั้นเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับ‘ที่ดินรถไฟ’ บริเวณพื้นที่'เขากระโดง' อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีเนื้อที่รวมกว่า 5,000 ไร่ เคยมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช. มาแล้ว
เริ่มต้นจากนายเรียงศักดิ์ แขงขัน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท. ได้ยื่นเรื่องกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.
ต่อมาวันที่ 15 ก.ค.2551 "คณะกรรมการ ป.ป.ช."ได้พิจารณาเรื่องที่กล่าวหาและมีมติรับเรื่องไว้พิจารณา รวมทั้งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง
ต่อมา"คณะกรรมการ ป.ป.ช." มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการ
คณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ใช้เวลาไต่สวนข้อเท็จจริงนานกว่า 3 ปี จนกระทั่งประมาณเดือนก.ย.2554 คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ ว่า การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนดในที่ดินของรฟท. ซึ่งเป็น ‘ที่สงวนหวงห้าม’ มิให้ออกโฉนด จึงเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบด้วยกฎหมายให้แจ้ง"กรมที่ดิน"ดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 และตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 99
โดยตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยของป.ป.ช.ระบุว่า นายชัย ชิดชอบ ผู้ขอออกโฉนด มีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานดำเนินการออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466และ 8564 โดยมิชอบซึ่งนับแต่วันกระทำความผิดถึงวันที่พนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์กล่าวโทษ เป็นเวลากว่า 30 ปี คดีขาดอายุความแล้ว ก่อนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะได้รับเรื่อง
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องได้ระงับไปตามประมาลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา39 (6) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบเรื่องกล่าวหา
“ให้แจ้งการรถไฟแห่งประเทศไทย พิจารณาดำเนินการกับผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยต่อไป”
แต่เรื่องได้เดินไปอย่างเชื่องช้าใช้เวลาหลายปี จนกระทั่งล่าสุดเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทำหนังสือที่ รฟ1/1911/2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดิน ขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ในพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 5,083 ไร่
และขอให้อธิบดีกรมที่ดินแจ้งผลการพิจารณาให้ รฟท.ทราบภายใน 90 วัน แต่หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว รฟท.จะใช้สิทธิทางศาลต่อไป
ทั้งนี้ รฟท.จัดส่งแผนที่แสดงแนวเขตที่ดินของ รฟท. และเลขโฉนดที่ดิน ที่ขอให้กรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกทับที่ดินของ รฟท. ด้วย
“กรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการกฎหมายต่อไปจึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดและแจ้งผลการพิจารณาให้ทราบภายใน 90 วัน หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวการรถไฟแห่งประเทศไทยจะได้ใช้สิทธิทางศาลต่อไป” หนังสือของผู้ว่า รฟท.ลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ระบุ
นอกจากนี้เรื่อง"ที่ดินเขากระโดง"พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ ได้เคยนำเรื่อง"ที่ดินเขากระโดง" อภิปรายไม่ไว้วางใจนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยกล่าวหาว่านายศักดิ์สยามและญาติมีบ้านพักบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ไม่ปฏิบัติบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดเพราะที่ดินเขากระโดงนั้นหลังจากปี 2560 ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยที่ดินทั้งแปลงเป็นที่สาธารณะประโยชน์ สงวนหวงห้ามไว้และในคำพิพากษาก็ระบุว่าใครที่เข้าไปอยู่จะต้องขับไล่และเพิกถอน
“ตามกฎหมายแล้วที่ดินแห่งนี้ (เขากระโดง) ออกเอกสารสิทธิไม่ได้ และที่ผ่านมาก็มีคำสั่งให้การรถไฟฯขับไล่เพิกถอน ซึ่งต้องทำทุกคน รวมทั้งรัฐมนตรีและญาติ” พ.ต.อ.ทวีอภิปราย
พร้อมย้ำว่า“ไม่ใช่คนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าเป็นปรปักษ์ก็จะถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดแต่คนอีกกลุ่มหนึ่งปฏิบัติไม่เหมือนกัน แม้แต่หลวงยังต้องขออนุญาตการรถไฟฯเลย”
พ.ต.อ.ทวี ทิ้งท้ายว่า เท่าที่ประเมินมูลค่าที่ดิน (เขากระโดง) น่าจะอยู่ที่ 5,000 ล้าน 1 หมื่นล้าน เพราะมันใหญ่โตมาก ผมไม่ได้ตำหนิใคร เมื่อสถานะที่ดินได้ข้อยุติว่าเป็นที่ของรัฐท่านต้องดำเนินการ ท่านต้องรักษาสถานที่แห่งนี้ให้เป็นของประเทศ ถ้าปล่อยเวลาไปจะยิ่งเป็นการสร้างปัญหาให้คนที่มาซื้อที่ดิน และวันหนึ่งหากถูกเพิกถอนก็เกิดปัญหาขึ้น
ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาว่า ที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ที่มีข้อพิพาทนั้น เมื่อปี 2550 การรถไฟฯได้เข้าไปสำรวจผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ดังกล่าว พบผู้ถือครองเอกสารสิทธิ์ ส.ค.1 มากกว่า 35 ราย ถือครอง น.ส. 3 ก ประมาณ 500 ราย ถือครองโฉนดที่ดินมากกว่า 320 ราย และมีหน่วยราชการในพื้นที่หลายหน่วยงาน
อย่างไรก็ตาม การรถไฟฯได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว 49 ราย แบ่งเป็น ส.ค. จำนวน 35 ราย น.ส. 3 ก จำนวน 7 ราย ซึ่งศาลฎีกาพิพากษาให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์การรถไฟฯ และขณะนี้คณะทำงานฯอยู่ระหว่างดำเนินการกับผู้บุกรุกเพิ่มเติม และรฟท.ได้เข้าไปจัดทำสัญญาเช่าให้เป็นไปตามระเบียบฯแล้ว
"ศักดิ์สยาม" ยังกล่าวถึงที่ดินที่เป็นที่ตั้งของ ‘สนามช้างอารีน่า’ ว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวมีเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดที่ดิน แปลงที่ 3466 ซึ่งเดิมที่ดินแปลงนี้เป็น น.ส.3 แต่เมื่อมีการซื้อขายแล้วก็นำไปยื่นขอออกเป็นโฉนด และวิศวกรของการรถไฟฯได้มารับรองแนวเขตเอง ซึ่งแสดงว่าที่ดินแปลงนี้มีประชาชนอาศัยอยู่นานแล้ว
“มีการชี้แนวเขตรับรองโดยวิศวกรของการรถไฟ แสดงว่าตรงนั้นจริงๆแล้ว มีพี่น้องประชาชนที่ได้อยู่อาศัยมานาน ซึ่งจะไปดูจากประวัติศาสตร์ก็ได้ เพราะบุรีรัมย์มีประวัติยาวนาน มีประชาชนอยู่ที่นั่นมายาวนานมาก นานจนกระทั่งผมคิดว่า เราเกิดไม่ทัน "
"เพราะฉะนั้นเรื่องที่ต้องดำเนินการ ผมได้สั่งการว่าเราต้องปฏิบัติงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาล ต้องมีความยุติธรรม มีคุณธรรม โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และผมก็ไม่เคยแทรกแซงหรือสั่งการใดๆในเรื่องที่ดินดังกล่าว และต้องบอกว่าการดำเนินการกับที่ดินที่ที่มีข้อพิพาททั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะที่ดินที่เขากระโดง” ศักดิ์สยาม ชี้แจง