ข่าว

จับตา"คลัง"ชง ครม."กู้เงิน" 200,000 ล้าน เยียวยา"โควิด-19"

จับตา"คลัง"ชง ครม."กู้เงิน" 200,000 ล้าน เยียวยา"โควิด-19"

27 ก.ค. 2564

จับตา กระแสข่าว "กระทรวงการคลัง"เตรียมเสนอแผน"กู้เงิน" 200,000 ล้าน เยียวยา"โควิด" เข้าที่ประชุม"คณะรัฐมนตรี" หลัง 1ล้านล้านบาทใช้หมดแล้ว ขณะที่"กระทรวงศึกษาธิการ"เสนอมาตรการช่วยเหลือนักเรียน-ผู้ปกครอง ลดค่าเทอมให้ครม.เห็นชอบ

 

วันที่( 27 ก.ค. 64 )พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีผ่านระบบ Video Conference  ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล 

 

มีกระแสข่าวว่า กระทรวงการคลัง จะเสนอแผนกู้เงิน 200,000 ล้านบาท หลังในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ เพื่อปรับแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2564 ครั้งที่ 2

 

โดยจะมีการขยายกรอบก่อหนี้ใหม่เพิ่มเติมอีก 100,000-200,000 ล้านบาทเป็นการทำแผนกู้เงินเพิ่มมารองรับมาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีการ"ล็อกดาวน์" 13 จังหวัดในช่วงนี้ ซึ่งแผนกู้เพิ่ม 100,000-200,000 ล้านบาทดังกล่าวอยู่ภายใต้กรอบ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 500,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องดำเนินการกู้ภายในสิ้นเดือน กันยายนนี้เนื่องจากขณะนี้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทใช้วงเงินหมดแล้ว


 

 

นอกจากนี้วาระการประชุมที่น่าสนใจในวันนี้ กระทรวงศึกษาธิการ จะเสนอ 4 มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ปกครอง นักเรียน ให้คณะรัฐมนตรีพิจาณา โดบ 

 

มาตรการที่ 1 การให้ความช่วยเหลือภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ทั้งสายสามัญศึกษาและสายอาชีพในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนรวมประมาณ 10.8 ล้านคน ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน รวมเป็นเงินประมาณ 21,600 ล้านบาท โดยใช้ฐานข้อมูลเรียนฟรี 15 ปี 

 

มาตรการที่ 2 เป็นการขอความร่วมมือจากโรงเรียนเอกชน ให้ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชนกลุ่มที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร

 

พร้อมทั้งจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในโรงเรียนเอกชน ทั้ง 2 กลุ่ม เพื่อพิจารณาสั่งการเป็นรายกรณี อย่างไรก็ตามหลังจาก ศธ.ได้ออกประกาศแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ปีการศึกษา 2564 

 

มาตรการที่ 3 เป็นการลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps)และลดผลกระทบด้านความรู้ ที่ขาดหายไป (Learning Loss) โดยให้สถานศึกษาสามารถถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อใช้จัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดในปีการศึกษา 2564 ได้

 

และจัดสรรค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้สถานศึกษาอีกส่วนหนึ่ง เพื่อใช้จัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาความปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของสถานศึกษาและจัดทําสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้หลากหลายที่เหมาะสมกับวัย ลดการเรียนรู้จากสื่อออนไลน์โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียน อนุบาล-ป.3

 

ขณะเดียวกัน ศธ.จะจัดเช่าอุปกรณ์ (Devices) พร้อมสัญญาน จํานวน 200,000 ชุด สําหรับให้นักเรียน/นักศึกษา กลุ่ม ป.4 – ม.6 และ อาชีวศึกษา ใช้ยืมเรียน รองรับการเรียนแบบออนไลน์

 

มาตรการที่ 4 เป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างงานโดยจะมีการจัดฝึกอบรมด้านอาชีพสําหรับผู้ปกครองและประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการอบรมฟรีรัฐสนับสนุนค่าใช้จ่าย ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ในอัตรา 2,000 บาทต่อคนพร้อมทั้งประสานเชื่อมโยงกับแหล่งทุนเพื่อจัดหาทุนเริ่มต้นประกอบอาชีพ