ข่าว

หมอเตือน "เห็ดพิษ" คล้าย "เห็ดไข่ห่าน" กินเข้าไปถึงตายได้

หมอเตือน "เห็ดพิษ" คล้าย "เห็ดไข่ห่าน" กินเข้าไปถึงตายได้

28 ก.ค. 2564

หมอเตือน "เห็ดพิษ" ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ "เห็ดไข่ห่าน" ชี้กินเข้าไปถึงตายได้

นพ.รังสฤษฎ์ เรืองกาญจนวณิชย์ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์เตือน "เห็ดพิษ" ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ "เห็ดไข่ห่าน" ที่ชาวบ้านเก็บมาขายและประกอบอาหาร ชี้กินเข้าไปถึงตายได้ 

 

 

"วันก่อนเดินเที่ยวป่าเต็งรังเจอชาวบ้านหลายสิบคนออกไปหา "เห็ดไข่ห่าน" ตั้งแต่เช้ามืดเอาไปขายตลาดกัน ผมเจอเห็ดนี้ชาวบ้านเก็บมาแต่ทิ้งไว้ข้างทาง ดีแล้วครับขืนเอาไปขาย ไปกินเกิดโศกนาฏกรรมหมู่แน่ มันเป็นตระกูล Amanita sp. เหมือนกันกับเห็ดไข่ห่าน มีลักษณะคล้ายกันแต่เป็นพวกก้านตัน (ระโงกตีนตัน) เห็ดชนิดนี้มี alpha-Amanitoxin มีร้ายแรงต่อตับ กินได้แต่ชีวิตนี้ กินได้ครั้งเดียว ดอกเดียวตายครับ"

 

หมอเตือน \"เห็ดพิษ\" คล้าย \"เห็ดไข่ห่าน\" กินเข้าไปถึงตายได้

 

สำหรับ เห็ดระโงกพิษ เป็นเห็ดป่าในสกุล Amanita ถือเป็นเห็ดพิษชนิดรุนแรง และเป็นอันตรายที่สุด พบได้ในประเทศไทยโดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

อันตรายของเห็ดระโงกพิษ

 

  • มีพิษอมาทอกซิน (Amatoxn) ที่ทนความร้อนถึงแม้รับประทานแบบปรุงสุกก็ยังทำให้เสียชีวิตได้
  • พิษอมาทอกซินจะไปยับยั้งการทำงานของเอนไซม์สังเคราะห์พันธุกรรม และหยุดการสร้างดีเอ็นเอ ทำให้ไม่สามารถสร้างโปรตีนมาซ่อมแซมอวัยวะที่เสียหายจากฤทธิ์การทำลายดีเอ็นเอได้ และไปกระตุ้นให้เซลล์ตาย
  • ตับเป็นอวัยวะที่เสียหายจากพิษนี้มากที่สุด เพราะตับมีหน้าที่กำจัดสารพิษ และการดูดซึมสารพิษเริ่มที่ตับ

 

ข้อแนะนำ 

 

  • ไม่รับประทานเห็ดป่าที่ไม่รู้จักเมื่อรับประทานเห็ดพิษ หากไปโรงพยาบาลทันภายใน 1 ชั่วโมง สามารถทำการล้างกระเพาะได้

 

  • หากมาโรงพยาบาลด้วยการแสดงอาการในขั้นที่ 1 เช่น คลื่นใส้ อาเจียน ท้องเสีย ซึ่งจะเกิดภายใน 24 ชั่วโมงหลังรับประทาน การแจ้งประวัติถึงการรับประทานเห็ดจะมีความสำคัญมากเพื่อให้แพทย์รักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะอาการที่แสดงจะแยกจากอาหารเป็นพิษได้ยาก
  • เมื่อเข้าสู่วันที่ 4 จะเริ่มมีอาการขั้นที่ 2 อาจมีอาการของตับวายแสดงออกมา เช่น ตัวเหลือง ตาเหลืองในขั้นที่ 3 เมื่อตับวายแล้ว ความดันโลหิตจะตก ไตวายจากการที่ร่างกายบีบเส้นเลือดที่เลี้ยงไตตีบจนขาดเลือด (Hepatorenal syndrome)

 

ขอบคุณเฟซบุ๊ก นพ.รังสฤษฎ์ เรืองกาญจนวณิชย์ , รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย