"ชมรมแพทย์ชนบท" แนะ 6R ทางรอด "โควิด-19" คนกรุงฯ
"ชมรมแพทย์ชนบท" แนะ 6R ทางรอด "โควิด-19" คนกรุงฯ ย้ำ "ชุมชนแออัด" จุดระบาดใหญ่ ต้องเร่งควบคุมให้ได้โดยเร็ว
วันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก "ชมรมแพทย์ชนบท" ได้เสนอแนวทาง 6R สำหรับ "ปฏิบัติการกรุงเทพมหานครครั้งที่ 3" เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรค "โควิด-19" โดยระบุข้อความว่า
ทาง ชมรมแพทย์ชนบท ได้มีโอกาสนำเสนอแนวคิดแนวทางการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดโควิดในกรุงเทพมหานคร ในที่ประชุม EOC ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
แพทย์ชนบทได้นำเสนอข้อมูลการปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุง 2 ครั้ง ตรวจ rapid test ให้พี่น้องประชาชนในชุมชนแออัดไปทั้งสิ้น 51,389 คน พบผลบวก 6,863 คน คิดเป็น 13.35% และได้นำเสนอข้อเสนอสำหรับการกู้กรุงเทพ ซึ่งสังเคราะห์จากประสบการณ์ 2 ครั้งที่ผ่านมา
ข้อเสนอของแพทย์ชนบท ยังมุ่งเน้นการควบคุมการแพร่ระบาดในชุมชนแออัดให้ได้ เพราะนั่นคือจุดระบาดใหญ่ แล้วกรุงเทพจะรอด เมื่อกรุงเทพรอด ต่างจังหวัดก็จะรอดด้วย เราประมวลแนวทางได้เป็นตัวย่อว่า 6R กล่าวคือ
1. Rapid Testing แม้เตียงเต็ม จะล้น เรายิ่งต้อง rapid testing โดย ATK-antigentest kit ให้มาก เพื่อแยกผู้ป่วยออกมา
2. Rapid tracing นำผู้สัมผัสร่วมบ้าน ร่วมงาน มาตรวจให้มากที่สุดในวันเดียวกัน
3. Rapid treatment ด้วย early home favipiravir หรือจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ทันที ที่พบผู้ติดเชื้อที่มีอาการหรือมีโรคประจำตัวหรือสูงอายุ เพื่อไม่ให้เขาต้องป่วยหนัก ส่วนคนติดเชื้อที่ไม่ป่วยให้ฟ้าทะลายโจร และมีระบบรับเข้า HI-home isolation ไป
4. Rapid vaccination ฉีดวัคซีนให้เร็วและให้ครอบคลุมในชุมชนแออัด โดยเน้นที่ผู้สูงอายุก่อน และหากมีวัคซีนมากพอก็ฉีดทุกคนที่อายุมากกว่า 18 ปี
หากทำทั้ง 4 มาตรการแล้ว จะลดการระบาดได้แน่ ลดการป่วยหนักและการตายลงได้ ส่งผลให้ลดภาวะการมีเตียงไม่พอลงได้ สิ่งนี้คือบทบาทของภาคสาธารณสุขทั้งของ สธ. กทม. และทีมแพทย์ชนบทสามารถดำเนินการร่วมกันได้ และหากรัฐบาลจะกู้กรุงเทพแบบอู่ฮั่นโมเดล ก็ต้องทำอีก 2R ก็จะยิ่งสามารถลดการระบาดได้อีก คือ
5. Rapid lockdown ในชุมชนที่ระบาด เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของเชื้อออกนอกชุมชน เนื่องจากบางรายมีเชื้อระยะเริ่มต้นแต่ยังตรวจด้วย ATK หรือ rtPCR ไม่พบ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้อง lockdown ทั้ง กทม.
6. Rapid healing หาก lockdown ก็ต้องมีการเยียวยาผู้คนในชุมชนแออัดนั้น ๆ เยียวยาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เขามีรายได้ สามารถยังชีพได้ในระหว่างที่มีการล็อคดาวน์ชุมชนของเขา
นี่คือ 6 ข้อเสนอของชมรมแพทย์ชนบท ขณะนี้ทีมแพทย์ชนบทกำลังประสานงาน ระดมความร่วมมือ ซึ่งได้รับการสนับสนุนและตอบรับจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น เอกชน และภาคประชาชนที่จะร่วมกัน "ปฏิบัติการกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3" ร่วมกัน เร็ว ๆ นี้