ทำไม "ซิโมน ไบลส์" จึงถอนตัวก่อนชิงเหรียญทองโอลิมปิก
เหตุใดการพูดถึง "สุขภาพจิต" จึงถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องใน "โอลิมปิก" ครั้งนี้ หลังจากที่ "นาโอมิ โอซากะ" ออกมาถอนตัวจากการแข่งขันด้วยเงื่อนไขทางด้านอารมณ์ ตอนนี้ "ซิโมน ไบลส์" ก็ออกมาถอนตัวจากการแข่งขันยิมนาสติกรอบชิงชนะเลิศแล้วเหมือนกัน
ซิโมน ไบลส์ (Simone Biles) นักยิมนาสติกวัย 24 ที่จะต้องลงแข่งยิมนาสติกโอลิมปิกในรอบชิงชนะเลิศเมื่อวันอังคารที่ 27 ก.ค. ผ่านมา แต่ภายในวันเดียวกันนั้นเองเธอออกมา ขอถอนตัวจากการแข่งขัน ซึ่งเธอให้เหตุผลว่า การตัดสินใจครั้งนี้มาจาก สภาพจิตใจของเธอที่ไม่พร้อมจะลงแข่ง และเธอเองก็ไม่อยากให้ความไม่พร้อมนี้ไปกระทบต่อผลงานของทีมด้วย วันนี้คมชัดลึกออนไลน์จะพาไปทำความเข้าใจถึงสภาพจิตใจของนักยิมนาสติกสาวคนนี้ว่าอะไรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เธอ "ไม่พร้อม"
เรื่องราวการถอนตัวของซิโมนถูกพูดถึงในวงกว้างและมีกระแสวิพากษ์วิจารย์โดยนำตัวเธอนั้นไปเปรียบเทียบกับ แครรี่ สตรัก (Kerri Strug) ว่าถึงแม้แครี่จะมีปัญหาเจ็บข้อเท้าแต่เธอก็สามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันยิมนาสติกโอลิมปิกในปี 1996 มาได้ คำวิพากษ์วิจารย์นี้หากมองในอีกมุมหนึ่ง เราอาจสังเกตได้ว่า นักกีฬาถูกตั้งความหวังไว้สูงมากให้นำชัยชนะกลับมาให้ทีมและประเทศโดยไม่มีข้ออ้าง
แต่สำหรับซิโมน เธอแบกรับความคาดหวังนี้ไม่ไหวอีกแล้ว ตัวเธอเข้าสู่วงการกีฬาตั้งแต่ 6 ขวบ เริ่มออกสู่แสงไฟเมื่อ 14 ขวบและไม่เคยพลาดที่จะคว้ารางวัล ตั้งแต่ปี 2013 และสำหรับครั้งนี้ เมื่อเธอเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ เธอเลยตัดสินใจที่จะขอไม่ร่วมลงแข่งขัน แม้จะมีหลายคนอยากรู้ในรายละเอียดของการตัดสินใจของเธอมากกว่านี้ แต่เรื่องบางเรื่องก็อาจจะไม่ได้เป็นหน้าที่ของนักกีฬาที่ต้องเอาเรื่องส่วนตัวของตัวเองมาบอกให้สังคมได้รู้ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้สังคมโดยเฉพาะวงการกีฬาได้เรียนรู้ว่า "นักกีฬาถึงแม้จะเก่งสักแค่ไหน แต่เราก็ไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกภายในของเขาได้เลย" เพราะเราไปให้ความสำคัญกับเหรียญและรางวัลมากเกินจนลืมนึกถึงความรู้สึกและความอ่อนไหวที่แท้จริงของมนุษย์ไปก็ได้
เมื่อประเด็นเรื่องสุขภาพจิตได้รับการพูดถึงในวงกว้างถึงเวทีโอลิมปิกแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ ความเข้าใจเรื่องของสุขภาพจิตในประเทศไทย หากเราดูข้อมูลตัวเลขจากกรมสุขภาพจิตของประเทศไทย คนไทยที่มีอาการทางจิตอยู่ที่ประมาณ 15% ของประชากร หรือตีเป็นเลขกลม ๆ ก็ประมาณ 10 ล้านคนจาก 70 ล้านคนซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ประเทศเรากลับไม่ได้รับความสนใจกับเรื่องนี้เท่าที่ควร ทั้ง ๆ ที่สุขภาพจิตถือเป็นตัวชี้วัดคุณภาพชีวิต และความสุขในชีวิตของคน ๆ หนึ่งเลยทีเดียว
อาการทางจิตจะมีหลายระดับ แต่ระดับที่เรามักจะนึกถึงกันจะเป็นโรคจิตเภท ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมความคิดตัวเอง และมองเห็นภาพต่าง ๆ ที่คนทั่วไปมองไม่เห็น หรือ ผู้ป่วยทางจิตที่เกิดจากการเสพสารเสพติดต่าง ๆ เกินขนาด จนทำให้สมองไม่สามารถทำงานได้ปกติจนต้องได้รับการบำบัด แต่อาการทางจิตไม่ได้มีแค่นั้น แต่ยังรวมถึง โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคอารมณ์สองขั้ว โรคเครียด ซึ่งโรคพวกนี้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจนและสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติธรรมดา แต่ภายในใจผู้ป่วยอาจไม่ได้รู้สึกผ่อนคลายเหมือนคนทั่วไปเนื่องจากสารเคมีในสมองของเขาทำงานร่วมกันอย่างไม่สมดุล อยากให้คุณนึกย้อนไปถึงความรู้สึกในวันที่คุณเครียดและกดดันมาก ๆ ในวันนั้นคุณเหนื่อยไหม เพราะผู้ป่วยประเภทนี้อาจต้องจมอยู่กับความรู้สึกเช่นนี้ อาจจะเป็นปี อาจจะค่อนชีวิต อาจจะทั้งชีวิต แต่บางคนโชคดีสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นผู้เขียนจึงคิดว่าความรู้ต่อโรคนี้ต้องเป็นที่รู้จักในวงกว้างในวงสังคมเพื่อมอบโอกาสและช่วยเหลือคนที่มีอาการดังกล่าวให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
อ้างอิงบทความ:
https://www.dmh.go.th/ebook/files/รายงานประจำปีกรมสุขภาพจิต%20ปีงบประมาณ%202563.PDF
ที่มารูปภาพ:
https://twitter.com/Simone_Biles